การประชุมวิชาการ THAICID National SYMPOSIUM ครั้งที่ 15 ว่าด้วยการบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้ง หลังการระบาดใหญ่

Featured Video Play Icon

เริ่มแล้ว งานประชุมวิชาการด้านการชลประทานและการระบายน้ำระดับชาติ ครั้งที่ 15 ว่าด้วยการบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้ง หลังการระบาดใหญ่

คณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย (THAICID) ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมชลประทาน เครือข่ายสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการและเอกชน จัดการประชุมระดับชาติในหัวข้อ “การปรับปรุงธรรมาภิบาลเพื่อการบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้ง หลังการระบาดใหญ่ ภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” ณ อาคารหอประชุมชูชาติ กำภู สถาบันพัฒนาการชลประทาน กรมชลประทาน อำเภอปากเกร็ด พร้อมถ่ายทอดสดผ่าน platform e-Symposium รูปแบบ Streaming Online

ดร.วัชระ เสือดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการ THAICID เปิดเผยว่า การประชุมวิชาการ THAICID National SYMPOSIUM ครั้งที่ 15 จัดโดย คณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย (THAICID) และ คณะอนุกรรมการด้านน้ำและระบบนิเวศในนาข้าว (INWEPF) ร่วมกับ สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมชลประทาน เครือข่ายสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการและเอกชน ซึ่งมีกำหนดการให้จัดเป็นประจำทุกปี   มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเผยแพร่งานวิชาการ ด้านการชลประทานและการระบายน้ำ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ระหว่างสมาชิกเครือข่าย

ซึ่งในปีนี้ จะเป็นการประชุมวิชาการภายใต้หัวข้อหลัก “การปรับปรุงธรรมาภิบาลเพื่อการบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้ง หลังการระบาดใหญ่ภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Improving Water Governance for Flood and Drought Managements Amidst Post Pandemic Crisis and Climate Change)”  นำเสนอผลงานวิชาการครอบคลุมเนื้อหาด้านการวางแผน คาดการณ์ และบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ โดยเน้นการปรับปรุงธรรมาภิบาลและนวัตกรรมเทคโนโลยี เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการดำเนินงานด้านการชลประทานให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน

โดยมีองค์ปาฐกรับเชิญพิเศษคือ วิศวกรใหญ่ A.B. Pandya เลขาธิการ ICID จากประเทศอินเดีย แสดงปาฐกถาในหัวข้อหลัก ผ่านระบบ Streaming  และมีองค์ปาฐกที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิรับเชิญ (Keynote Speakers) อีก 3 ท่าน มากล่าวถึงเนื้อหาของแต่ละหัวข้อย่อย (Subtheme) ในอีก 3 มิติคือ

มิติที่ 1 แพลตฟอร์มสำหรับคาดการณ์ ตรวจสอบ และบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ ที่แม่นยำและใช้งานได้ทันท่วงที โดย ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ

มิติที่ 2 นวัตกรรมสรรค์สร้างและเทคโนโลยีเพื่อการปรับเปลี่ยน โดย นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน

และ มิติที่ 3การบริหารจัดการน้ำชลประทานและการระบายน้ำอย่างยั่งยืนภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย ดร. กนกวรรณ ศาศวัตเตชะ ที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการน้ำในการเกษตร, GIZ

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอบทความน่าสนใจอีก 6 บทความ ที่ผ่านการคัดเลือกจากบทคัดย่อกว่า 44 บทความ จาก 13 หน่วยงานหลัก ที่ร่วมส่งบทความ ผ่านเวทีแสดงผลงานแลกเปลี่ยนความรู้ ในรูปแบบ e-Symposium Online และการถ่ายทอดสด จากเวทีหลัก อาคารหอประชุมชูชาติ กำภู นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอ 15 บทความ จาก 3 เวทีย่อย Parallel Sessions โดยผู้ดำเนินรายการและเจ้าของผลงาน จะดำเนินการตอบคำถามและข้อสงสัยด้วยตนเอง

ทั้งนี้ สามารถเข้าร่วมรับชมกิจกรรมภายในงานในรูปแบบ Social Distancing ที่อาคารหอประชุมชูชาติ กำภู สถาบันพัฒนาการชลประทาน กรมชลประทาน อำเภอปากเกร็ด หรือรับชมผ่านทางเว็บไซต์  https://thaicid.rid.go.th/2022  เวลา 08:00 – 16:30 น.