นายกฯ เปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ รับ 10 ข้อเรียกร้องยืนยันรัฐบาลดูแลสิทธิแรงงานทุกคน

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ กล่าวปราศรัย พบปะผู้ใช้แรงงาน และเยี่ยมชมนิทรรศการ ณ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง พร้อมรับข้อเรียกร้องวันแรงงานทั้ง 10 ข้อ ยืนยัน รัฐบาลตั้งใจให้พี่น้องแรงงานได้เข้าถึงสิทธิต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมทั้งด้านการมีงานทำ มีทักษะฝีมือ ได้รับการคุ้มครอง ปลอดภัยในการทำงาน และมีหลักประกันทางสังคม

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2562 ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) ดินแดง โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมข้าราชการ ผู้นำแรงงาน และพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้การต้อนรับ โดยในช่วงเช้าที่ผ่านมา รมว.แรงงาน ได้เป็นประธานในพิธีสงฆ์ทำบุญถวายภัตตาหารเช้าเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ณ ปะรำพิธีบริเวณสโมสรทหารบก จากนั้นได้ตั้งริ้วขบวน ณ บริเวณสนามกีฬากองทัพบก ถนนวิภาวดี และเคลื่อนริ้วขบวน โดยมีวงดุริยางค์ ขบวนรถเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ตามด้วยริ้วขบวนกระทรวงแรงงาน ซึ่งนำโดย รมว.แรงงาน ผู้บริหาร ข้าราชการกระทรวงแรงงาน และริ้วขบวนของผู้ใช้แรงงาน จำนวน 17 องค์กร เคลื่อนไปตามถนนวิภาวดีเข้าสู่ถนนมิตรไมตรีไปจนถึงอาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) ดินแดง

จากนั้น พล.ต.อ.อดุลย์ฯ ได้กล่าวสรุปความคืบหน้าของภารกิจตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน โดยกล่าวว่า จากวันแรงงานแห่งชาติปี 2561 กระทรวงแรงงานโดยความร่วมมือขององค์กรผู้ใช้แรงงานและองค์กรนายจ้าง ได้ดำเนินงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน และครอบครัว ให้มีความมั่นคงและสามารถดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งปรากฏเป็นผลงานสำคัญ อาทิ การคุ้มครองสิทธิแรงงาน การยกระดับคุณภาพชีวิตและหลักประกันทางสังคม การปรับปรุงและยกระดับกฎหมายเทียบเคียงมาตรฐานสากล เป็นต้น จากนั้นได้แนะนำนายทวี เตชะธีราวัฒน์ ประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานในปีนี้ เพื่อให้นายทวีฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติทั้ง 10 ข้อ แก่นายกรัฐมนตรี สำหรับข้อเรียกร้องประกอบด้วย 1) ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 2) ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการนำร่อง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านมาประชาพิจารณ์มาแล้ว เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในรัฐสภาฯ โดยเร่งด่วน 3) ให้รัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 3.1) การกำหนดเกษียณอายุของลูกจ้างอยู่ที่ 60 ปี ในกรณีลูกจ้างมีอายุ 55 ปี ประสงค์จะลาออกจากการเป็นลูกจ้าง ให้นายจ้างอนุญาตให้ลาออกได้ โดยได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับลูกจ้างที่เกษียณทุกประการ และ 3.2) ให้กระทรวงแรงงานดำเนินการหามาตรการให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรงปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ตามมาตรา 11/1 อย่างเคร่งครัด 4) ให้รัฐบาล ปฏิรูป แก้ไขเพิ่มเติม เกี่ยวกับประกันสังคม ดังนี้ 4.1) ปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาท 4.2) ในกรณีผู้ประกันตนเกษียณอายุและรับบำนาญแล้ว เมื่อสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้มีสิทธิรับเงินรับบำนาญต่อไป และหรือผู้ประกันตนที่รับบำนาญชราภาพ ให้คงสิทธิไว้ 3 กรณี ได้แก่ การรักษาพยาบาล ทุพพลภาพ และค่าทำศพ เหมือนเดิม 4.3) ในกรณีผู้ประกันตนพ้นสภาพจากมาตรา 33 และประกันตนต่อตามมาตรา 39 การคำนวณ เดิมค่าจ้าง 60 เดือน เป็นค่าทดแทนต่าง ๆ ขอให้ใช้ฐานค่าจ้างจากมาตรา 33 4.4) เพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลผู้ประกันตน มาตรา 40 เหมือนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 4.5) ขยายอายุผู้ประกันตนจาก 15 – 60 ปี ขยายเป็น 15 – 70 ปี เพื่อให้เข้ากับสังคมผู้สูงอายุ 4.6) ในกรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพื่อสร้างจูงใจและลดความเหลื่อมล้ำให้รวมทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 เป็นทางเลือกเดียวกัน 5) ให้รัฐบาลรวมกองทุนเงินทดแทนกับกองความปลอดภัยแรงงาน และยกระดับเป็นกรมความปลอดภัยแรงงาน 6) ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เข้าสู่การพิจารณาต่อรัฐสภา โดยเร่งด่วน เพื่อเป็นกองทุนของลูกจ้าง 6.1) ให้รัฐบาลส่งเสริมการออมของลูกจ้างในรูปแบบสหกรณ์ออมทรัพย์ ในทุกสถานประกอบกิจการ 7) ให้รัฐบาลออกกฎหมายคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบและมีสิทธิจัดตั้งองค์กรได้ 8) ให้รัฐบาลจัดระบบสวัสดิการ หรือกองทุนสวัสดิภาพของรัฐวิสาหกิจให้กับพนักงานรัฐวิสาหกิจทั้งที่ยังมีสถานภาพเป็นพนักงาน และที่พ้นสภาพความเป็นพนักงาน ให้ได้รับไม้น้อยกว่าลูกจ้างภาคเอกชนที่ได้รับตามระบบประกันสังคม มาตรา 33 และมาตรา 39 9) ให้กระทรวงแรงงานปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตามมาตรา 74 รัฐพึงจัดให้มีระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการ และ 10) ให้ รมว.แรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2562

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน กล่าวปราศรัย พบปะผู้ใช้แรงงาน และเยี่ยมชมนิทรรศการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน โดยกล่าวว่า วันแรงงานแห่งชาติ เป็นวันสำคัญของพี่น้องคนทำงาน ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเจริญเติบโต รัฐบาลจึงมุ่งหวังให้ประเทศไทยมีภาคการผลิตที่เป็นอุตสาหกรรม 4.0 โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมโดยการพัฒนาศักยภาพพี่น้องแรงงานให้เป็นผู้มีความสามารถเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นอกจากนี้ รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะทำให้พี่น้องได้เข้าถึงสิทธิต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมทั้งด้านการมีงานทำ การพัฒนาทักษะฝีมือ การคุ้มครองแรงงาน ความปลอดภัยในการทำงาน และการมีหลักประกันทางสังคม สำหรับข้อเรียกร้องในปีนี้ เป็นงานที่รัฐบาลได้ดำเนินการแล้ว และบางส่วนอยู่ระหว่างการดำเนินการ ดังนั้น เพื่อให้ข้อเรียกร้องได้รับการพิจารณาดำเนินการต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม จึงมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักในการหารือร่วมกับพี่น้องแรงงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และพิจารณากำหนดกรอบแนวทางการปฏิบัติให้ครอบคลุมในทุกมิติต่อไป สำหรับกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติที่น่าสนใจในปีนี้ อาทิ การให้ความรู้ด้านกฎหมายแรงงาน การปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพ สาธิตประกอบอาชีพอิสระ นัดพบแรงงาน ตอบปัญหาชิงรางวัลมากมาย และรับชมคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดัง เป็นต้น ตั้งแต่เวลา 08.30 – 17.00 น.