สรุปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนเมษายน 2562

ภาพรวม

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนเมษายน 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 1.23 (YoY) ชะลอตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า (มีนาคม 2562 สูงขึ้นร้อยละ 1.24) ทั้งสินค้ากลุ่มอาหารสดและกลุ่มพลังงานยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการสูงขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนนี้ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารสด สูงขึ้นร้อยละ 3.30 ตามการสูงขึ้น    ของผักสด ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ร้อน แห้งแล้งและมีแนวโน้มรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้พืชผักเสียหายปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อยลง ส่วนกลุ่มพลังงานสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังจากที่ลดลงในช่วงก่อนหน้า       โดยสูงขึ้นร้อยละ 2.33 ตามภาวะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ลดอัตรากำลังการผลิต เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.61 (YoY)

การสูงขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนนี้ สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ที่ปรับตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยดัชนีราคาผู้ผลิตปรับสูงขึ้นจากหมวดผลผลิตเกษตรกรรม (ข้าวเปลือก ยางพารา ข้าวโพด สุกร ) และปิโตรเลียม ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ปรับสูงขึ้นจากราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กเป็นสำคัญ นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนเมษายน 2562 อยู่ในช่วงความเชื่อมั่น (สูงกว่า 50) สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์ โดยยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีจากการนำเข้า เดือนมีนาคม 2562 สูงขึ้นร้อยละ 2.2 และ 5.7 ตามลำดับ   รวมทั้งยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ และยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือนมีนาคม 2562 สูงขึ้นเช่นกัน   ที่ร้อยละ 4.6 และ 2.3 ตามลำดับ ในขณะที่รายได้เกษตรกรแม้ยังหดตัว แต่ปรับตัวสูงขึ้นจากที่ลดลงร้อยละ 4.0    เป็นลดลงร้อยละ 0.96 สะท้อนถึงแนวโน้มการบริโภคที่มีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการเดือนเมษายน 2562

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนเมษายน 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 1.23 (YoY) สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ของปี และชะลอตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า (มีนาคม 2562 สูงขึ้นร้อยละ 1.24) โดยมีการเคลื่อนไหวในระดับสินค้าดังนี้ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.20 โดยเฉพาะผักสดสูงขึ้น   ถึงร้อยละ 12.74 อาทิ พริกสด ต้นหอม ถั่วฝักยาว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง            ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมาทำให้พืชผักเสียหาย ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง และเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้นในอัตราเท่ากันที่ร้อยละ 3.33 ตามการสูงขึ้นของข้าวสารเจ้า ขนมปังปอนด์ เนื้อสุกร ปลาทู เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 3.39 อาทิ น้ำพริกแกง น้ำปลา กะปิ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.66 อาทิ กาแฟ (ร้อน/เย็น) น้ำอัดลม ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 0.29 อาทิ ไข่ไก่ ไข่เป็ด ครีมเทียม อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.75 และ 1.80 ตามลำดับ อาทิ ข้าวราดแกง อาหารเช้า กับข้าวสำเร็จรูป ขณะที่ผลไม้ ลดลงร้อยละ 0.50 ตามการลดลงของเงาะและส้มเขียวหวานเป็นสำคัญ หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.67 ตามการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 2.72 โดยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเกือบทุกประเภท ยกเว้นดีเซลราคาลดลง ค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 1.91 (ค่าโดยสารรถ ขสมก./บขส. ค่ารถรับส่งนักเรียน ค่าโดยสารเครื่องบิน) ส่งผลให้หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 1.06  หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.52 (ค่าเช่าบ้าน ค่ากระแสไฟฟ้า) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.35 (เครื่องแบบนักเรียนหญิง/ชาย) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.34 (ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ค่าแต่งผมชาย/สตรี) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ ร้อยละ 0.32 ขณะที่       หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.03

ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.44 (MoM) และเมื่อพิจารณาเฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.- เม.ย.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.86 (AoA 

ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนเมษายน 2562 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.7 (YoY) สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และปรับตัวดีกว่าเดือนที่ผ่านมาที่สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ตามการสูงขึ้นของสินค้าในหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ร้อยละ 6.5 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และพืชผัก (มะนาว แตงกวา ต้นหอม) เป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ประกอบกับความต้องการของตลาดมีอย่างต่อเนื่อง กลุ่มผลไม้ และกลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ (สุกรมีชีวิต ไข่ไก่) ปรับสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลงคือ กุ้งแวนนาไม เนื่องจากผลผลิตในตลาดโลกมีปริมาณมากส่งผล     ให้ราคาลดลง หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 7.3 จากการสูงขึ้นของกลุ่มสินค้าก๊าซธรรมชาติเป็นสำคัญ ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.3 ตามการลดลงของสินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์ (อนินทรีย์) ที่ปรับลดลงตามราคาตลาดโลก กลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (เหล็กแผ่น เหล็กเส้น) จากการแข่งขันสูงกับสินค้าเหล็กที่นำเข้าจากจีน กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี (เอทิลีน โพรพิลีน เบนซีน) และเม็ดพลาสติก ที่เป็นสินค้าเกี่ยวเนื่อง ความต้องการลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.7 (MoM) และเมื่อพิจารณาเฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.- เม.ย.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.1 (AoA)

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนเมษายน 2562 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.7 (YoY)  สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยเดือนก่อนหน้าสูงขึ้นร้อยละ 0.3 ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าในหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ร้อยละ 11.2 (ไม้พื้น ไม้ฝา ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้แบบ วงกบประตู-หน้าต่าง บานประตู) เนื่องจาก  ไม้นำเข้าราคาสูงขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 2.0 (คอนกรีตบล็อกปูพื้น คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตหยาบ ขอบคันขอนกรีต) ปรับสูงขึ้นตามราคาปูนซีเมนต์ ประกอบกับความต้องการใช้คอนกรีตผสมเสร็จมีมากขึ้น หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.7 (กระเบื้องบุผนัง-ปูพื้น กระเบื้องยาง) หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 0.6 (ปูนซีเมนต์ผสม) และหมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.3 (สีรองพื้นปูน ซิลิโคน) ตามความต้องการที่ขยายตัวสูงขึ้น สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 1.7 (เหล็กเส้น เหล็กตัวซี เหล็กฉาก ลวดผูกเหล็ก ท่อเหล็กดำ    ท่อแสตนเลส เหล็กแผ่น ตะปู) เนื่องจากการแข่งขันด้านราคากับเหล็กนำเข้าจากจีน และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ลดลงร้อยละ 1.2 (ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ท่อพีวีซี ข้อต่อ-สามทางพีวีซี ท่อระบายน้ำเสียพีวีซี) จากต้นทุนวัตถุดิบ (เม็ดพลาสติก) ที่ปรับราคาลดลงตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.2 (MoM) และเมื่อพิจารณา    เฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.2 (AoA)

สรุปสถานการณ์เงินเฟ้อเดือนเมษายน 2562

การสูงขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนนี้ มีปัจจัยสำคัญจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาอาหารสด โดยได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ร้อน แห้งแล้งและมีแนวโน้มรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดลดลง รวมทั้งราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามภาวะราคาในตลาดโลก ขณะที่ความต้องการบริโภคยังคงอยู่ในระดับที่มีนัยสำคัญและสอดคล้องกับเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจอื่นๆ โดยเฉพาะด้านอุปสงค์(ความต้องการของผู้บริโภค)ที่อยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์และรถจักรยานยนต์    ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่รายได้เกษตรกรแม้ยังลดลง แต่น่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามมาตรการต่างๆของภาครัฐ โดยภาพรวมสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการของประเทศยังอยู่ในระดับมีเสถียรภาพและแนวโน้มที่ดี สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์คาดว่า เงินเฟ้อตลอดทั้งปีจะยังเคลื่อนไหวในกรอบคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ร้อยละ 0.7 – 1.7 (ค่ากลางร้อยละ 1.2)

——————————————–

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

กระทรวงพาณิชย์