ประกันสังคม ร่วมจัดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติปี 62

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการเข้าร่วมงานวันแรงงานแห่งชาติปี 2562 ณ บริเวณสโมสรทหารบก และบริเวณอาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ว่าสำนักงานประกันสังคมได้ร่วมกับหน่วยงานกระทรวงแรงงานจัดกิจกรรมในวันดังกล่าว เป็นประจำทุกปี โดยจัดบูธนิทรรศการให้ความรู้เรื่องสิทธิประโยชน์ กิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และเข้าใจงานของประกันสังคมเพิ่มมากขึ้น รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร และในปี 2562 นี้ สำนักงานประกันสังคม ได้ดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงแรงงาน จัดเพิ่มสิทธิประโยชน์ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตเพื่อผู้ประกันตน โดยได้ดำเนินการคืนสิทธิผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งเริ่มดำเนินการคืนสิทธิมาตั้งแต่ 20 เมษายน 2561- 19 เมษายน 2562 มีตัวเลขผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่สิ้นสภาพกลับเข้าสู่ระบบแล้วทั้งสิ้น 384,086 คน เร่งดำเนินการผลักดันแรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยจูงใจแรงงานนอกระบบถึง 3 ทางเลือก ได้แก่ ทางเลือก 1 (ผู้ประกันตนจ่าย 70 บาท/เดือน) คุ้มครองเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วยต้องหยุดงาน เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ และตาย ทางเลือก 2 (ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท/เดือน) เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วยต้องหยุดงาน และเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ ตาย และกรณีชราภาพให้ได้รับเงินก้อนพร้อมดอกผล ทางเลือก 3 (ผู้ประกันตนจ่าย 300 บาท/เดือน) เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วยต้องหยุดงาน และเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ ตาย กรณีชราภาพได้รับเงินก้อนพร้อมดอกผล และกรณีสงเคราะห์บุตร ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้บริการตรวจสุขภาพให้แก่ลูกจ้างผู้ประกันตนในสถานประกอบการ ทำให้ลูกจ้างได้รับความสะดวก ไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยผู้ประกันตนใช้บัตรประชาชนยื่นตรวจสุขภาพได้ที่ รพ.ตามสิทธิประกันสังคม หรือ รพ.ที่เข้าร่วมโครงการกับประกันสังคม ให้ได้รับการตรวจสุขภาพตามเกณฑ์อายุ เช่น ตรวจเต้านมเพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม ตรวจมะเร็งปากมดลูก ตรวจน้ำตาลในเลือด ตรวจการทำงานของไต เอ็กซเรย์ปอด ตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของกองทุนเงินทดแทน ได้แก้ไขพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ทำให้ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ ตายหรือสูญหายเนื่องจากการทำงานได้รับสิทธิประโยชน์มากยิ่งขึ้น อีกทั้งทายาทหรือตัวลูกจ้างจะได้รับเงินทดแทนเพียงพอต่อการดำรงชีพ ซึ่งสาระสำคัญจากพระราชบัญญัติเงินทดแทนฉบับดังกล่าว คือการปรับลดเงินเพิ่มเหลือร้อยละ 2 ต่อเดือน (เดิมร้อยละ 3) กรณีประสบภัยพิบัติ รมว.แรงงาน มีอำนาจลดการจ่ายเงินเพิ่มอีกด้วย ในส่วนของลูกจ้างได้มีการขยายความคุ้มครองไปยังลูกจ้างส่วนราชการ กว่า 1 ล้านคน การเพิ่มเงินทดแทนให้ลูกจ้างเป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน (เดิมร้อยละ 60) อีกทั้งมีการเพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทน ในกรณีลูกจ้างทุพพลภาพ และกรณีลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายได้รับเพิ่มค่ารักษาพยาบาลจากเดิมสูงสุด 2 ล้านบาท จนสิ้นสุดการรักษา เพิ่มค่าทดแทนการขาดรายได้กรณีลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป (เดิมตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป) เพิ่มค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพเป็นไม่น้อยกว่า 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันสูงสุดขอให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตนมั่นใจในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม ว่าจะดูแลผู้ประกันตนในระบบให้ได้รับสวัสดิการที่ดีและมั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำและมีความเท่าเทียมกัน อันจะส่งผลให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

………………………………………………………..

ศูนย์สารนิเทศ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

สายด่วนประกันสังคม 1506 บริการ 24 ชั่วโมง