วธ.ติวเข้ม 770 เครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมในสถานศึกษา-นอกสถานศึกษาทั่วประเทศ เริ่ม 20 มิ.ย.นี้ ดึงเยาวชน-องค์กร ภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมสอดส่องเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ร่วมป้องกัน แก้ไขปัญหาและสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมในมิติวัฒนธรรมอย่างเป็นระบบ – ทันท่วงที
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันวิถีชีวิตของคนในสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด วิถีชีวิตและรูปแบบการสื่อสาร โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของทุกคน ดังนั้นเพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในการประสานงานและบริหารจัดการเครือข่ายในการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมในมิติวัฒนธรรมได้มอบหมายให้กองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม (กฝว.) ประสานงานกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ.) 76 จังหวัด สำรวจ รวบรวมข้อมูลและปรับปรุงฐานข้อมูลเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ประเภทศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา
ซึ่งสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดได้รายงานข้อมูลสถานะการดำรงอยู่ของเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ข้อมูล ณ วันที่ 1 เมษายน 2565 พบว่า ขณะนี้มีเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมในสถานศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 4,694 แห่ง และมีเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมนอกสถานศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 2,946 แห่ง รวมทั้งสิ้น 7,640 แห่ง
ปลัด วธ. กล่าวอีกว่า วธ. จึงจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting จำนวน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 20 – 21 มิถุนายน และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 23 – 24 มิถุนายน 2565
โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด 76 จังหวัดผู้ที่รับผิดชอบศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา จำนวน 76 คน เครือข่ายศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา 76 จังหวัด ๆ ละ 10 แห่ง รวม 760 แห่งและเครือข่ายศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษาพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 10 แห่ง รวมจำนวน 770 แห่ง
“การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ วธ. ต้องการเสริมสร้างศักยภาพการดำเนินงานของเครือข่ายศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษาให้เข้มแข็ง และขยายเครือข่ายให้หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน องค์กร สมาคม มูลนิธิและภาคประชาชน เยาวชน สื่อมวลชน ร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมในการร่วมกันป้องกัน ตรวจสอบ เฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยสังคม ตลอดจนแก้ไขปัญหาความเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรม เนื่องจากเห็นว่าการมีเครือข่ายครอบคลุมทุกพื้นที่และการร่วมกันในการเฝ้าระวัง สถานการณ์และปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรม เพื่อเป็นการแจ้งเตือนสังคมให้รู้เท่าทันและทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
อีกทั้งเพื่อประสานงานแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องอย่างทันท่วงที ที่สำคัญเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมในมิติวัฒนธรรมให้กับสังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากการก้าวเข้าสู่ยุคสื่อใหม่ (New Media) ซึ่งเป็นการหลอมรวมเทคโนโลยีสื่อ (Media Convergence) เข้าด้วยกัน ทำให้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมหลากหลายด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทด้านการสื่อสาร ซึ่งกลายเป็นช่องทางรับรู้ข่าวสารที่ทรงอิทธิพลมากในยุคปัจจุบัน” ปลัด วธ. กล่าว