ประเทศไทยได้มีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ มาตั้งแต่สมัยโบราณ และเริ่มต้นนำวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาใช้ นับจากปี พ.ศ. 2445 ซึ่งได้สถาปนากรมคลองขึ้น และผ่านการพัฒนาเปลี่ยนผ่านเป็นกรมทดน้ำ และเป็นกรมชลประทาน จวบจนถึงปัจจุบัน 120 ปี
กรมชลประทาน ดำเนินงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน้าที่จัดให้ได้มาซึ่งน้ำเพื่อกักเก็บรักษา ควบคุม ส่ง ระบาย หรือ แบ่งน้ำเพื่อการเกษตร การพลังงาน การสาธารณูปโภค หรือการอุตสาหกรรม และหมายรวมถึงการป้องกันความเสียหายอันเกิดจากน้ำ กับการคมนาคมทางน้ำซึ่งอยู่ในเขตชลประทาน ประกอบด้วยหน่วยงาน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
ดำเนินงานตามภารกิจหลักในการพัฒนาแหล่งน้ำ เพิ่มพื้นที่ชลประทานตามศักยภาพของลุ่มน้ำให้เกิดความสมดุล บริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ให้เพียงพอ ทั่วถึง และเป็นธรรม ดำเนินการป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำอย่างเหมาะสม เสริมสร้างการมีส่วนร่วม ในการพัฒนาแหล่งน้ำ และการบริหารจัดการน้ำ เพื่อจัดสรรน้ำให้กับทุกภาคส่วน
กรมชลประทาน ดำเนินการตามภารกิจหลักภายใต้ ยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี เพื่อขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ชาติ ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ทั้ง 5 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 การพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามศักยภาพลักษณะลุ่มน้ำ (Basin-based Approach)
ประเด็นที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ตามวัตถุประสงค์การใช้น้ำ
ประเด็นที่ 3 การป้องกันความเสียหายและสนับสนุนการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ
ประเด็นที่ 4 การเสริมอำนาจประชาชนในระดับพื้นที่ (Empowering) การสร้างเครือข่าย และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในงานบริหารจัดการน้ำชลประทาน (Networking Collaboration Participation)
ประเด็นที่ 5 การปรับเปลี่ยนสู่องค์กรอัจฉริยะ (Turnaround to Intelligent Organization)
โดยมีวิสัยทัศน์ : องค์กรอัจฉริยะ ที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) เพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการ ภายในปี 2580
ก้าวเข้าสู่ปีที่120 กรมชลประทานมีแนวทางการขับเคลื่อนงานชลประทาน ภายใต้แนวคิด “RID TEAM : เราจะก้าวไปด้วยกัน” ดำเนินการขับเคลื่อนงานชลประทานสู่องค์กรอัจฉริยะ เร่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ สร้างความมั่นคงด้านน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน ส่งเสริมการมีส่วนร่วม พร้อมพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีสมรรถนะสูง
ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายในการขับเคลื่อนงานชลประทานไว้ 3 ประเด็น ประเด็นละ 4 กลยุทธ์
ประเด็นที่ 1 องค์กรอัจฉริยะ โดยจะมีการจัดการและบูรณาการระบบฐานข้อมูล ปรับปรุงและพัฒนากระบวนงาน วิจัยและพัฒนา นวัตกรรมในการทำงาน สรรหาและพัฒนาบุคลากรให้มีสมรรถนะสูง
ประเด็นที่ 2 ความมั่นคงด้านน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพิ่มประสิทธิภาพของโครงการชลประทาน พัฒนารูปแบบและแนวทางที่เหมาะสมในการรับมือภัยพิบัติด้านน้ำ
ประเด็นที่ 3 เพิ่มคุณค่าการบริการ เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของผู้รับบริการ และภาคีเครือข่ายของทุกภาคส่วน พัฒนาคุณภาพการให้บริการ งานหน่วยงาน จัดวางตำแหน่งบุคลากร และจัดทำเส้นทางความก้าวหน้าอย่างเหมาะสม และเสริมสร้างความผาสุกของบุคลากรเพื่อให้มีแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน
จากนโยบายสู่การปฏิบัติ กว้างใหญ่ในวิสัยทัศน์ ล้ำลึกกับงานวิจัย และไหลเชี่ยวคล่องตัวเมื่อลงมือทำ หล่อเลี้ยงจุดที่แห้งแล้ง เติมเต็มและพัฒนาคุณภาพชีวิตทั่วทุกพื้นที่ เร่งระบายทุกข์ภัย แทนที่ด้วยองค์ความรู้ใหม่อย่างท่วมท้น ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สอดรับกับทุกนโยบายรัฐและหน่วยงานอื่นๆ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด เราจะทุ่มเท มุ่งมั่น ร่วมมือกันเป็นหนึ่ง คอยหล่อเลี้ยงเป็นที่พึ่ง เพื่อนำคุณภาพชีวิตทีดี ส่งไปถึงคนไทยทุกคน
120 ปี กรมชลประทาน เราจะก้าวไปด้วยกัน ทุ่มเททำงาน สืบสานพันธกิจ ด้วยความสุจริตโปร่งใส เพื่อให้ภารกิจงานชลประทานบรรลุตามเป้าหมาย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรและราษฎร
ไม่ใช่แค่บริหารจัดการน้ำ ไม่ใช่แค่วิจัยเรื่องน้ำ แต่ยังรับผิดชอบการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจ สร้างวิถีชีวิต และดูแลความเป็นอยู่ของผู้คนให้สมดุล หน้าที่เหล่านี้ต้องผสานความคิด ความรับผิดชอบ ความมุ่งมั่นกล้าหาญ และการร่วมมือกันของทุกฝ่าย จึงจะเกิดพลัง ที่จะทำให้คนไทย มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน