สสส. – มูลนิธิหัวใจอาสา – ภาคีเครือข่าย จัดเดิน-วิ่ง “หัวใจอาสา” RUN FOR LOVE ครั้งที่ 11 ชวนประชาชน – คนพิการ ป้องกันกลุ่มโรค NCDs ตั้งเป้าสร้างสังคมแห่งความสุข-เท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ชี้กิจกรรมทางกาย ต้องไร้ขีดจำกัด คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) มูลนิธิหัวใจอาสา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย มูลนิธินวัตกรรมเพื่อสังคม องค์กรภาครัฐและเอกชน ร่วมจัดกิจกรรม “เดิน-วิ่ง สังคมสดใสด้วยหัวใจอาสา ครั้งที่ 11” (Run for Love) โดยมีคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา เป็นประธานเปิดงาน
ร่วมด้วยดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ และผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. นายกรรชิต สุขใจมิตร ผู้อำนวยการมูลนิธิหัวใจอาสา และนายอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ซึ่งมีนักวิ่งให้ความสนใจร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก พร้อมกับเชิญชวนให้นำสิ่งของที่ไม่ได้ใช้แล้ว แต่ยังมีคุณค่า มาร่วมบริจาคที่ “ร้านปันกัน” โดยมูลนิธิยุวพัฒน์ จะนำรายได้ทั้งหมดไปเป็นทุนการศึกษาให้แก่เด็กที่ขาดโอกาสต่อไป
คุณหญิงชฎา กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยตลอดจนคนพิการ โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานในองค์กร ต่างๆ ออกกำลังกายเป็นวิถีชีวิต เพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อันได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัมพาต อัมพฤกษ์ และโรคอ้วน และเป็นการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนทุกเพศทุกวัย เห็นคุณค่าของ “การให้” และ “การมีหัวใจอาสา” ที่มุ่งสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม และการช่วยเหลือ และแบ่งปันให้แก่ผู้อื่น สำหรับ กิจกรรมแข่งขันเดิน-วิ่ง แบ่งเป็นการแข่งขันวิ่งมินิมาราธอน 10 กิโลเมตร, การวิ่ง 5 กิโลเมตร และ กิจกรรมเดินเพื่อสุขภาพ 2.4 กิโลเมตร
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า จากข้อมูลในปี 2562 คนไทยเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องสูงถึง 427.4 คนต่อประชากร 100,000 คน โดยการเพิ่มกิจกรรมทางกายจะเป็นอาวุธสำคัญในการป้องกันโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs ในกลุ่มวัยทำงาน โดยองค์กรอนามัยโลกแนะนำว่า บุคคลที่สุขภาพปกติในวัยทำงานควรมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ และควรปฏิบัติเป็นประจำอย่างน้อย 150-300 นาทีต่อสัปดาห์
ขณะที่โครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2563 โดยศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) พบว่าคนไทยมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอถึงร้อยละ 45.67 ดังนั้น การที่คนไทยกลับมามีกิจกรรมทางกาย อย่างการเดินวิ่งให้เป็นกิจวัตรประจำวัน เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากการป่วยด้วยโรค NCDs
นางภรณี กล่าวว่า สสส. มุ่งสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพให้คนกลุ่มเปราะบาง ที่ถูกละเลย หลงลืม หรือเป็น “กลุ่มสุดท้าย” ที่เข้าถึงสิทธิสวัสดิการต่างๆ ในสังคม ที่ผ่านมา สสส. และภาคีเครือข่าย ผลักดันให้เกิดนโยบาย พัฒนาความรู้ เพื่อให้เกิดสังคมแห่งความสุขและเท่าเทียมสำหรับทุกคน (Inclusive Society) ที่ส่งเสริมให้คนทุกกลุ่มมีศักดิ์ศรีและสุขภาวะที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายของ สสส. คือทำให้คนพิการทุกคนมีงานทำ มีสิทธิและได้รับการศึกษา เทียบเท่ากับคนทุกกลุ่ม
“งานเดิน-วิ่งหัวใจอาสา Run for Love สะท้อนให้เห็นหัวใจขององค์กร ที่ต้องการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้ร่วมแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ เพื่อให้คนพิการแสดงศักยภาพของตัวเอง และทำให้สังคมเห็นว่าการวิ่งไร้ขีดจำกัด คนทุกกลุ่มสามารถวิ่งได้ เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน”นางภรณี กล่าว
นายอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวว่า มูลนิธินวัตกรรมฯ ขับเคลื่อนโครงการคนพิการเข้าสู่ปีที่ 7 มีเป้าหมายให้คนพิการมีงานทำ มีอาชีพ และมีสุขภาวะที่ดี จึงเกิดระบบการติดตามสุขภาพคนพิการ Health tracking ควบคู่กิจกรรม “70 วันมหัศจรรย์ของฉัน” ที่มุ่งเน้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ภายใต้ 4 ภารกิจ
1.ขยับกายขยายปอด ออกกำลังกาย วันละ 30 นาที
2.คนอ่อนหวาน งดของหวาน ทานน้ำตาล ไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน
3.ดื่มน้ำวันละ 8 แก้วต่อวัน หรือ 2 ลิตร
4.มนุษย์ผัก วันละ 4 กำมือ เพิ่มพลังขับถ่าย
มีคนพิการและองค์กรท้องถิ่นเข้าร่วมกว่า 3,000 คน จากผลสำรวจพบว่า 69% ของคนพิการที่เข้าร่วมตื่นตัวในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม ในอนาคตมีแผนจะขยายโครงการต่อไป
ติดตามข่าวสารของโครงการ และภาพกิจกรรมงาน RUN FOR LOVE เดิน-วิ่ง กับคนพิการ ได้ทางแฟนเพจ คนพิการต้องมีงานทำ – มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม www.facebook.com/konpikanthai