รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการ “มหกรรมกัญชา 360 องศา ปลดล็อคกัญชา ประชาชนได้อะไร” เขตสุขภาพที่ 9 พร้อมส่งมอบต้นกล้ากัญชา 1,000 ต้น ให้แก่ประชาชน เผยปี 2564 ผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชง สร้างรายได้กว่า 7 พันล้านบาท
วันที่ 10 มิถุนายน 2565 ที่สนามช้างอินเตอร์เนชันแนลเซอร์กิต อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร เปิดการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 9 “มหกรรมกัญชา 360 องศา ปลดล็อคกัญชา ประชาชนได้อะไร” เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านกัญชาทางการแพทย์กัญชงเพื่อเศรษฐกิจ และเพิ่มการเข้าถึงการให้บริการกัญชาทางการแพทย์แก่ประชาชน ผู้ประกอบการ และบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมส่งมอบต้นกล้ากัญชา 1,000 ต้น ให้แก่ประชาชน
นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงประโยชน์จากสารสกัดกัญชาในการนำมาใช้รักษาและดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้น รวมถึงต่อยอดเศรษฐกิจครอบครัว ซึ่งภายหลังที่ประเทศไทยเปิดโอกาสให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ได้ในปี 2562 กระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้ยากัญชารักษาโรค พบว่า ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยากัญชามากขึ้นและมีความปลอดภัยสูง รวมถึงผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชง เป็นที่ต้องการอย่างมาก สร้างรายได้หมุนเวียนมูลค่ากว่า 7 พันล้านบาทในปี 2564
“ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 การปลดล็อคพืชกัญชาจากการเป็นยาเสพติดมีผลโดยสมบูรณ์เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชงอย่างเหมาะสม สามารถปลูกกัญชาทั้งการใช้ในครัวเรือนการดูแลผู้ป่วย หรือเชิงพาณิชย์ได้ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้จัดทำแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” อำนวยความสะดวกในการจดแจ้งการปลูกกัญชา กัญชงให้แก่ประชาชน และขอย้ำว่า แม้กัญชา กัญชงไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว การครอบครองหรือการค้าไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป การปลูกกัญชาไม่ต้องขออนุญาต แต่ขอให้ไปจดแจ้ง ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อให้ใช้ประโยชน์ในทางที่ถูกต้อง และขอให้ช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้มีผู้ใช้ไปในทางที่ผิด” นายอนุทินกล่าว
นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ เป็นเขตสุขภาพที่มีความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนกัญชาเสรีทางการแพทย์ ดำเนินการทั้งในส่วนต้นน้ำ มีพื้นที่ปลูกกัญชาถึง 53 แห่ง และกัญชงถึง 93 แห่ง, ส่วนกลางน้ำ มีโรงพยาบาลมาตรฐาน GMP ที่มีศักยภาพผลิตยากัญชาสนับสนุนทั้งในเขตสุขภาพและเขตสุขภาพอื่นๆ และปลายน้ำ เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐครบทุกแห่ง และภาคเอกชนอีก 9 แห่ง โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้มีการใช้กัญชาได้อย่างถูกต้องปลอดภัย เตรียมความพร้อม ทั้งการปลูก การนำส่วนต่างๆ มาใช้ประโยชน์เพื่อการรักษา ประกอบอาหาร แปรรูปในผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ต่อยอดในเชิงธุรกิจได้อย่างคุ้มค่า
โดยกิจกรรมการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 9 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 มิถุนายน 2565 ประกอบด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ นิทรรศการความรู้เกี่ยวกับกัญชาครบวงจร, บริการให้คำปรึกษาการขออนุญาตการปลูกเชิงพาณิชย์, การเปิดตัวแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” รับจดแจ้งสำหรับประชาชนที่ประสงค์ปลูกกัญชา, ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกัญชง กว่า 200 บูธ, คลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน, วิสาหกิจชุมชนตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการปลูกพืชกัญชา กัญชงเพื่อใช้สร้างเศรษฐกิจ ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์
และกิจกรรมไฮไลท์ คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร นำต้นกล้ากัญชาและกัญชงในโครงการ “แจกกล้ากัญชา 1 ล้านต้น” มาแจกจ่ายให้กับประชาชนที่มาร่วมงานฟรี จำนวน 1,000 ต้น
**************************** 9 มิถุนายน 2565