กรมอนามัย แนะ 8 วิธี กินปลอดภัย ป้องกันอาหารติดคอ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำ 8 วิธี กินอาหารให้ปลอดภัย ป้องกันอาหารติดคอ หากเกิดเหตุการณ์ให้รีบปฐมพยาบาล ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีเน็ตไอดอลชื่อดัง ประสบเหตุการณ์เศษอาหารติดหลอดลม ส่งผลให้ขาดอากาศหายใจ จนกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา เป็นเวลานานกว่า 3 เดือน ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา เหตุการณ์สิ่งแปลกปลอมที่อุดกั้นทางเดินหายใจ เกิดขึ้นได้บ่อย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เช่น กระดุม เหรียญ น็อต ลูกอม ติดคอ สำหรับในกลุ่มผู้ใหญ่มักเกิดจาก การกินอาหารชิ้นใหญ่ หรือเคี้ยวไม่ละเอียด จึงเกิดการติดคอ และปิดกั้นหลอดลม จนขาดอากาศหายใจได้ เมื่อพบเด็กหรือผู้ใหญ่มีอาการสำลัก หรือสิ่งแปลกปลอมติดคอ ถ้ายังไอแรง ๆ ได้ พูดได้ และหายใจเป็นปกติ ไม่ต้องทำอะไร แต่ควรรีบนำผู้ป่วยไปหาหมอทันที อย่าพยายามใช้นิ้วล้วงคอ เพื่อเอาสิ่งแปลกปลอมออก เพราะอาจดันสิ่งแปลกปลอมเข้าไปอุดกั้นทางเดินหายใจ จนเกิดอันตรายได้

ส่วนกรณีรุนแรง หายใจไม่ได้ ไอไม่ได้ หรือผู้ป่วยหมดสติ ให้แจ้ง 1669 และรีบปฐมพยาบาล โดยให้ผู้ช่วยปฐมพยาบาลยืนด้านหลังผู้ป่วย โอบรอบใต้รักแร้ มือข้างหนึ่งกำ โดยหันกำปั้นด้านนิ้วหัวแม่มือเข้าไปด้านในหน้าท้องผู้ป่วย แล้ววางไว้ เหนือบริเวณสะดือแต่ใต้ลิ้นปี่ มืออีกข้างโอบกำปั้นไว้ และรัดกระตุกที่หน้าท้องขึ้นและเข้าพร้อม ๆ กัน แรง ๆ จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออก หรือจนกว่าผู้ป่วยจะพูดหรือร้องออกมาได้ จากนั้นนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

“ทั้งนี้ การป้องกันอาหารติดคอขณะกินอาหาร มีวิธีการปฏิบัติ ดังนี้

1) นั่งตัวตรงขณะกินอาหาร และหลังกินเสร็จห้ามนอนทันที ควรนั่งพักหรือเดินย่อยสัก 15 – 20 นาที

2) กินอาหารช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด

3) อย่ากินอาหารขณะเหนื่อยหรือรีบเร่ง ควรพักก่อนสัก 30 นาที

4) อาหารที่กินควรแบ่งเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือพอดีคำ ไม่ใหญ่เกินไป

5) ลดสิ่งรบกวนขณะกินอาหาร เช่น การพูดคุย การเดิน

6) กินอาหารคำละ 1 ชนิด อาหารที่มีเนื้อสัตว์หลากหลายชนิดใน 1 คำ อาจสำลักได้ง่าย

7) ควรกินอาหารสลับกัน เช่น อาหารที่บดเคี้ยว สลับกับอาหารเหลว เพื่อให้กลืนอาหารง่ายไม่ฝืดคอ

8) หากอาหารที่กินแข็งหรือแห้งเกินไป ควรมีน้ำซอสหรือน้ำซุปช่วยให้เนื้ออาหารชุ่มและนุ่มขึ้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***
กรมอนามัย / 10 มิถุนายน 2565