สธ.เปิดหอผู้ป่วยในสุพรรณิการ์ รพ.บุรีรัมย์ รองรับผู้ป่วยวิกฤตด้านจิตเวชและยาเสพติด

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิด “หอผู้ป่วยในสุพรรณิการ์” รองรับผู้ป่วยที่มีปัญหาวิกฤตด้านจิตเวชและยาเสพติด ให้เข้าถึงบริการสะดวกรวดเร็ว ลดการส่งต่อ ปลอดภัยตามมาตรฐาน ได้รับการดูแลแบบองค์รวมและครอบคลุม 4 มิติ

วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลบุรีรัมย์ และเปิดหอผู้ป่วยสุพรรณิการ์ โดยมีนายแพทย์ภูวดล กิตติวัฒนาสาร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุรีรัมย์ พร้อมด้วยคณะบุคลากรที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ

นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สร้างระบบการดูแลเชื่อมโยงไร้รอยต่อ ในสถานบริการทุกระดับ โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อลดอัตราป่วย ลดอัตราตาย ลดความแออัด และลดระยะเวลารอคอย สำหรับด้านจิตเวชและยาเสพติด มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของสถานบริการให้มีความเหมาะสมตามขีดความสามารถของแต่ละระดับ พัฒนาระบบบริการให้มีคุณภาพ เพิ่มการเข้าถึงบริการและรองรับการแก้ไขปัญหาด้านจิตเวชและยาเสพติด

ซึ่งโรงพยาบาลบุรีรัมย์ ได้จัดตั้ง “หอผู้ป่วยในสุพรรณิการ์” รองรับผู้ป่วยที่มีปัญหาวิกฤตด้านจิตเวชและยาเสพติด ให้ได้รับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน เพื่อเข้าถึงบริการได้สะดวก รวดเร็ว ลดการส่งต่อ ปลอดภัยตามมาตรฐาน และได้รับการดูแลแบบองค์รวมครอบคลุม 4 มิติ ทั้งการป้องกัน แก้ไข รักษาและฟื้นฟู ซึ่งมีขนาด 24 เตียง ประกอบด้วยจิตแพทย์ทั่วไป จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น พยาบาลและเจ้าหน้าที่ จำนวน 13 คน อยู่ในระหว่างศึกษาต่อ 5 คน โดยเปิดให้บริการแล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ปัจจุบันให้การดูแลผู้ป่วยชาย จำนวน 10 เตียง และจะเปิดรับผู้ป่วยหญิง ในเดือนกรกฎาคมนี้

“โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ได้ตอบสนองนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดได้เป็นอย่างดี ช่วยผู้ที่มีปัญหา เป็นที่พึ่งของคนทุกย์ยาก ทำให้ประชาชนกล้าเข้ามาใช้บริการ ช่วยสร้างสุขภาพจิตที่ดี และทำให้เกิดความภาคภูมิใจ” นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าว

ทั้งนี้ โรงพยาบาลบุรีรัมย์ กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดได้เปิดให้บริการ “คลินิกรักษ์ใจ” โดยข้อมูลสถิติพบว่าจำนวนผู้รับบริการมีแนวโน้มสูงขึ้น ในปี พ.ศ.2562 มีผู้ป่วยจำนวน 29,833 ราย และปี พ.ศ.2564 มีผู้ป่วยสูงขึ้นเป็น 39,973 ราย และ 7 เดือนแรกในปีงบ 2565 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ 10,494 ราย ในจำนวนนี้เข้ารับบริการบำบัดยาเสพติด 2,729 ราย จิตเวชฉุกเฉิน 97 ราย รับส่งต่อ 38 ราย อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยจิตเวชที่ต้องรักษาในหอผู้ป่วยอายุรกรรมและหอผู้ป่วยอื่นๆ เฉลี่ยปีละจำนวนกว่า 1,600 รายและผู้ป่วยที่ส่งต่อเข้ารับการรักษาในสถานบริการเฉพาะด้านจิตเวชและยาเสพติด เฉลี่ยปีละ 600 ราย

**************************** 9 มิถุนายน 2565