กรม สบส.วางโครงการดึงดูดนักท่องเที่ยว ร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจ ดันไทยเป็นศูนย์กลางทันตกรรม

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ วางโครงการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศ โดยการยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติด้านทันตกรรม หรือ Dental Hub พร้อมชงภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องแห่งแรก

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่ภาครัฐมีนโยบายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการเดินทางของนักท่องเที่ยว ทำให้การดำเนินการตามนโยบายฯต้องชะลอตัวลง ดังนั้น เมื่อประเทศไทยและนานาประเทศได้ก้าวพ้นสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 แล้ว

กระทรวงสาธารณสุข โดยกรม สบส.จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้จากการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ โดยยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติด้านทันตกรรม (Dental Hub) นำบริการทันตกรรมที่มีศักยภาพสูงมาเป็นจุดดึงดูดชาวต่างชาติ โดยนำร่องคลินิกทันตกรรมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เน้นบริการทันตกรรมเพื่อความงาม และกำหนดอัตราค่าบริการเป็นราคาเดียว (One Price Policy)

ซึ่งแต่ละคลินิกสามารถกำหนดอัตราค่าบริการทางทันตกรรมที่แตกต่างกันได้ แต่จะต้องเก็บค่าบริการในอัตราเดียวกันทั้งชาวไทยและต่างชาติ เพื่อดึงดูดให้ชาวไทยและต่างชาติเข้ารับบริการ รวมถึงเตรียมการพัฒนาแอปพลิเคชัน หรือแพลตฟอร์มกลางที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลร่วมกัน ผู้รับบริการสามารถค้นหารายชื่อคลินิกทันตกรรม ชื่อหัตถการ หรือทันตแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะผ่านระบบออนไลน์ มีการพัฒนาศูนย์ล่าม ระบบการเบิกจ่ายค่ารักษา (Claim Center) เป็นต้น

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส.กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีคลินิกทันตกรรมทั้งสิ้น 6,173 แห่ง ซึ่งสถานพยาบาลของไทยก็ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในด้านการบริการ คุณภาพมาตรฐานเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงราคา การนำจังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยวชั้นนำ มาเป็นพื้นที่นำร่อง Dental Hub เชื่อว่าจะสามารถดึงดูดผู้ที่ชื่นชอบในการรับบริการด้านสุขภาพ หรือการท่องเที่ยวจากทั่วโลกมารับบริการจาก Dental Hub ของไทยได้ โดยคลินิกทันตกรรมที่จะเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องเป็นคลินิกที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล

รวมทั้งมีความพร้อมในองค์ประกอบ ได้แก่

1.ด้านสถานที่ มีโครงสร้างปลอดภัย สะอาด มีการทำความสะอาดอุปกรณ์เสมอ

2.ด้าน COVID Free Setting จัดจุดคัดกรองผู้รับบริการ และมีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด

3.ด้านการรักษา มีการคัดกรองก่อนให้การรักษา ครอบคลุมข้อมูลทางการแพทย์ เครื่องมือปลอดเชื้อ

4.ด้านผู้ให้บริการ มีบุคลิกภาพและการแต่งกายที่เหมาะสม มีศักยภาพในการสื่อสารภาษาอังกฤษ

5.ด้านข้อมูล/เอกสาร มีเอกสารประกอบการบันทึกหรือสื่อสารกับผู้รับการรักษาเป็นภาษาอังกฤษ มีการทำแผนการรักษาร่วมกับผู้รับการรักษาเป็นลายลักษณ์อักษร

โดยคาดว่าจะเปิดให้คลินิกทันตกรรมที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการได้ในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปี 2565

***********