นายกฯ ประยุทธ์’ หนุน 12 กระทรวง ร่วมสร้างเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ด้วยหลัก 4H

​วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงยกระดับความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 พ.ศ. 2565 – 2570 “เด็กไทยในศตวรรษที่ 21 เก่ง ดี มีทักษะ แข็งแรง” พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์

ศ.ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

​นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เด็กไทยกว่า 10 ล้านคน คือ อนาคตของประเทศไทย รัฐบาลจึงมีนโยบายพัฒนาศักยภาพเด็กไทย มุ่งให้เป็นคนเก่ง คนดี มีความรู้ และทักษะในศตวรรษที่ 21 รู้จักคิด วิเคราะห์ รักการเรียนรู้ มีสำนึกพลเมือง กล้าหาญทางจริยธรรม แก้ปัญหา ปรับตัว สื่อสาร รอบรู้เท่าทันสื่อ ทำงานกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิผลตลอดชีวิตดีขึ้น ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานโครงสร้างคุณภาพคนที่ดีที่สุด สร้างเด็กรุ่นใหม่ให้มีความคิดดี มีความรู้ดี ก้าวสู่การเป็นเยาวชนที่ดีมีคุณภาพ ดังนั้น เพื่อผลักดันนโยบายรัฐบาลและแผนยุทธศาสตร์ชาติให้บรรลุเป้าหมายอย่างยั่งยืน

กระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงยกระดับความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 พ.ศ 2565 – 2570 “เด็กไทยในศตวรรษที่ 21 เก่ง ดี มีทักษะ แข็งแรง” ขึ้น ซึ่งเป็นความร่วมมือทั้ง 12 กระทรวง ภายใต้กรอบ การขับเคลื่อนยกระดับความร่วมมือการพัฒนาเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ด้วยหลัก 4H ได้แก่

1) เก่ง (Head) : คิด วิเคราะห์ สติปัญญาดี มีสมรรถนะสูง

2) ดี (Heart) : มีคุณธรรม จริยธรรม จิตใจดี มีวินัย จิตอาสา

3) มีทักษะ (Hand) : ทักษะเรียนรู้ ทักษะปฏิบัติ ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต

4) แข็งแรง (Health) : รอบรู้ ปลอดภัย สุขภาพกายจิตดี เพื่อสานพลังยกระดับความร่วมมือพัฒนาศักยภาพเด็กไทย ผลักดันระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สร้างกลไกขับเคลื่อนให้เอื้อต่อการดำเนินงานระดับพื้นที่ เชื่อมโยงกับแนวนโยบายรัฐบาล และแผนยุทธศาสตร์ชาติให้บรรลุเป้าหมายอย่างยั่งยืน

“สำหรับบทบาทหน้าที่ของ 12 กระทรวงในการดำเนินงานร่วมกันแบบบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ได้กำหนดบทบาท ดังนี้

1) กระทรวงสาธารณสุข ผลักดันให้เกิดความร่วมมือเชิงนโยบายการพัฒนาศักยภาพ ด้านสุขภาพเด็กและเยาวชนแบบบูรณาการ สนับสนุนให้เกิดนโยบายและมาตรการ เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ มีทักษะสุขภาพ ทักษะชีวิต และพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ จัดบริการให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพ ที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ อย่างทั่วถึง และเป็นธรรม

2) กระทรวงศึกษาธิการ สร้างแหล่งเรียนรู้ เพิ่มช่องทางหรือรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการการศึกษาได้อย่างทั่วถึง พัฒนาความร่วมมือการบูรณาการการทำงานร่วมกันในการ จัดการศึกษา และการใช้ประโยชน์ข้อมูลสารสนเทศร่วมกัน

3) กระทรวงมหาดไทย สนับสนุนส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนาศักยภาพเด็กไทยให้เป็นคนเก่ง คนดี มีความรู้และมีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กไทยตามกลยุทธ์ 4H

4) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพเด็กและเยาวชน โดยใช้กิจกรรมกีฬา นันทนาการ และวิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างสุขภาวะอย่างยั่งยืนจนเป็นวิถีชีวิต ส่งเสริมและสนับสนุน ให้เด็กและเยาวชน เกิดการเรียนรู้ มีทักษะและตระหนักถึงความสำคัญของกีฬา นันทนาการ และวิทยาศาสตร์การกีฬา

5) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้กับเด็กและเยาวชน มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความมั่นคงในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21

6) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาในการพัฒนาทักษะ ความสามารถ และรูปแบบการจัดทำโครงการ หรือกิจกรรมเพื่อพัฒนานิสิต นักศึกษา ให้มีความสมบูรณ์ พร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา มีความรู้คู่คุณธรรม รวมถึงส่งเสริมหลักคิดที่ถูกต้องโดยสอดแทรกหลักคุณธรรมจริยธรรม การมีจิตสาธารณะ การเคารพกฎหมาย และกติกาของสังคม รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาบัณฑิตพันธุ์ใหม่ด้วยการปรับรูปแบบ การเรียนรู้และการสอนเพื่อพัฒนาทักษะความรู้ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิตก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน

7) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเสริมสร้างองค์ความรู้ และกระบวนการเรียนรู้ด้านการเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเพิ่มทักษะชีวิตให้เด็กวัยเรียนวัยรุ่น และสามารถนำไป พัฒนาตนเอง และขยายผล สร้างอาชีพเสริมด้านการเกษตรในครัวเรือนได้ และเป็นทางเลือกในการสร้างอาชีพ ในอนาคต

8) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พัฒนาศักยภาพ สร้างความตระหนักรู้ และยกระดับทักษะ ด้านดิจิทัลให้กับประชาชนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียน นักศึกษา แรงงานในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงผู้สูงวัยและผู้พิการ ส่งเสริมสนับสนุนดำเนินการจัดกิจกรรมกับกลุ่มเด็กวัยเรียน เยาวชน ให้มีพฤติกรรม คนรุ่นใหม่ทันภัยข่าวปลอม (Anti Fake news)

9) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุน สื่อการเรียนการสอนด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาให้กับโรงเรียนและสถาบันการศึกษา ในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 สนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเครือข่ายเยาวชนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาระบบน้ำดื่มสะอาดในพื้นที่โครงการพัฒนา เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน

10) กระทรวงยุติธรรม ดูแล บำบัด แก้ไข ฟื้นฟูร่างกาย และจิตใจเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยเน้นพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ สงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยประสานความร่วมมือกับเครือข่ายชุมชนภาครัฐ ภาคเอกชน

11) กระทรวงแรงงาน พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้แก่กำลังแรงงาน และส่งเสริมทักษะอาชีพให้แก่กำลังแรงงานเยาวชนก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และความต้องการของตลาดแรงงาน มีอาชีพ มีรายได้ สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัว

12) กระทรวงวัฒนธรรม สร้างจิตสำนึก สร้างค่านิยม และวิถีชีวิตที่ดีงามในสังคมไทยต่อเด็กและเยาวชน และบริหารจัดการความรู้ด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ให้มีคุณภาพมาตรฐานสำหรับเด็กและเยาวชน” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

***

กรมอนามัย / 9 มิถุนายน 2565