กรมประมงโชว์นิทรรศการและสัตว์น้ำสวยงามพื้นเมืองของไทย หวังสร้างจิตสำนึกในการร่วมกันอนุรักษ์สัตว์น้ำพื้นเมืองไม่ให้เกิดการสูญพันธุ์ไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติ รักษาระบบนิเวศ และเกิดการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรอย่างยั่งยืน
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน “มหัศจรรย์ปลาสวยงาม ดินแดนสยาม The Story of Native Ornamental Fish in Thailand 2022” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 5 มิถุนายน 2565 ณ เจริญนคร ฮอลล์ ชั้น M และรัษฎา ฮอลล์ ชั้น 1 ไอคอนสยาม ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ผู้เข้าชมเกี่ยวกับสัตว์น้ำสวยงามพื้นเมืองของไทย และเพื่อให้เกิดจิตสำนึกในการร่วมกันอนุรักษ์สัตว์น้ำพื้นเมืองของไทยไม่ให้เกิดการสูญพันธุ์ไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติ รักษาระบบนิเวศ และเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรอย่างยั่งยืน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสัตว์น้ำในแหล่งน้ำ มีปริมาณลดลงเป็นอย่างมาก และบางชนิดเกิดการสูญพันธุ์อันเกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ สภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศที่เกิดการเปลี่ยนแปลง แหล่งต้นน้ำลำธารถูกทำลาย แหล่งน้ำเกิดมลพิษ รวมถึงการจับสัตว์น้ำจากธรรมชาติมาจำหน่ายเพื่อเป็นสัตว์น้ำสวยงาม ซึ่งบางชนิดได้รับความนิยมสูงในตลาดต่างประเทศ ทำให้ต้องมีการจับและรวบรวมจากธรรมชาติเพื่อส่งออกจำหน่ายไปยังตลาดต่างประเทศ การจัดนิทรรศการในครั้งนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สัตว์น้ำพื้นเมืองของไทยให้แก่ประชาชนทั่วไปที่เข้ามารับชมนิทรรศการ ให้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสัตว์น้ำพื้นเมืองชนิดต่าง ๆ ของไทยที่มีความสำคัญ สวยงาม และโดดเด่น และมุ่งหวังให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำพื้นเมืองของไทยให้คงอยู่ไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคต
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายสนับสนุนให้เกษตรกรไทยพัฒนาศักยภาพการผลิตสัตว์น้ำสวยงามที่มีคุณภาพ ได้รับการรับรองมาตรฐาน เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออก และผลักดันธุรกิจนำไปสู่ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสัตว์น้ำสวยงามระดับโลก และปัจจุบันกรมประมงสามารถพัฒนาเทคนิคการเพาะขยายพันธุ์ปลาสวยงามพื้นเมืองของไทยได้เป็นผลสำเร็จ และมีนโยบายในการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว และส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีการเพาะเลี้ยงเพื่อการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ลดการจับจากธรรมชาติ เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรปลาสวยงามไทยให้ยังคงอยู่และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนอีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ ปลาสวยงามที่ผลิตในประเทศไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ เช่น ปลากัด ปลาหางนกยูง ปลาทอง ปลาหมอสี ปลาปอมปาดัวร์ เป็นต้น เป็นปลาที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยงของเกษตรกร ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกปลาสวยงามมากกว่า 700 ล้านบาท/ปี โดยปลากัดไทยได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ ปีละไม่น้อยกว่า 20 ล้านตัว มูลค่าการส่งออกปีละมากกว่า 200 ล้านบาท และประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกอันดับ 5 ของโลก รองมาจาก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สเปน และอินโดนีเซีย โดยมีส่วนแบ่งในตลาดโลกร้อยละ 7.38
นอกจากนี้ ในส่วนของปลาสวยงามพื้นเมืองของไทย นอกจากปลากัด ปลาทรงเครื่อง ปลาลูกผึ้ง ปลากาแดง ปลาหางไหม้ ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกแล้ว ยังมีปลาที่ได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศหลายชนิด ที่ไม่ได้มาจากการเพาะเลี้ยง แต่ได้จากการจับและรวบรวมจากแหล่งน้ำธรรมชาติแล้วนำส่งขายในตลาดต่างประเทศ เช่น ปลาก้างพระร่วง (ส่งออกมากกว่า 1 ล้านตัว/ปี มูลค่า 8.7 ล้านบาท/ปี) และปลาซิวข้างขวาน (ส่งออกเกือบ 1 ล้านตัว/ปี มูลค่า 3.5 ล้านบาท/ปี) ทำให้ในแหล่งน้ำธรรมชาติมีปลาเหล่านี้จำนวนลดลงอย่างรวดเร็วและอยู่ในสถานภาพสุ่มเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อีกด้วย