บ้านสู้ฝุ่น

ปัญหาเรื่องฝุ่น เป็นปัญหาที่ยังคงวนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวัน และเป็นที่รู้กันว่า PM2.5 นั้นอันตราย ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างปัญหาทางสุขภาพมากมายขนาดไหน การแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด อาจต้องเริ่มจากหน่วยเล็ก ๆ ของสังคมอย่าง “บ้าน” หรือ “ที่อยู่อาศัย” เพราะถือว่าเป็นสถานที่ที่หลายคนเป็นเจ้าของ และใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุด รวมทั้งเป็นสถานที่หลอมรวมความรัก ความห่วงใยของสมาชิกในบ้านที่อยู่ร่วมกัน

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการลงพื้นที่ศึกษาดูงาน“บ้านสู้ฝุ่น” จังหวัดเชียงใหม่กว่า 100 ครัวเรือน ครอบคลุม 19 ชุมชนภาคเหนือตอนบน โดยมุ่งหวังให้เป็นต้นแบบแก้ปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่เขตเมืองทั่วประเทศ ในการขับเคลื่อนงานลดมลพิษฝุ่นควันของภาคเหนือ โดยเลือกจังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นพื้นที่นำร่อง ในการแก้ไขปัญหานี้ ครอบคลุมทุกสถานที่ ทุกระดับตั้งแต่ระดับครัวเรือน ระดับสถานศึกษา ระดับชุมชน เพื่อขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

นายศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาชุมชน สสส. กล่าวว่า พื้นที่ภาคเหนือตอนบนประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นเวลายาวนานเกินกว่า 10 ปี ที่ผ่านมา ในปี 2563 ได้มีการพัฒนานวัตกรรมแนวคิดธุรกิจสู้ฝุ่น บ้านสู้ฝุ่น จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นต้นแบบแนวทางการลดฝุ่นที่สามารถทำได้ง่าย รวมไปถึงมุ่งขับเคลื่อนงานลดมลพิษทางอากาศในพื้นที่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ครอบคลุมทั้ง 19 ชุมชน โดยอาศัยความร่วมมือของภาคประชาชน ที่ปรับเปลี่ยนการประกอบธุรกิจ และกิจกรรมการใช้ชีวิต เพราะทุกคนมีความรักในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของตนเอง โดยเข้ามามีส่วนร่วมตามแนวคิดการปรับบ้านในพื้นที่เมือง เพื่อเป้าหมายการบรรเทาผลกระทบจากฝุ่น PM2.5

นายชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า สภาลมหายใจ คือ การผนึกกำลัง ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่ายที่มาร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน เราอยากให้เกิดกระบวนการที่เริ่มง่าย ๆ ได้ตั้งแต่ที่บ้าน ซึ่งทุกคนสามารถเริ่มได้ด้วยตัวเอง เพราะทุกคนก็เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในสร้างปัญหากลุ่มควันและเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรถึงจะให้แต่ละคนสามารถแก้ไขปัญหากลุ่มควันด้วยตัวเองที่บ้านได้ ไม่ยุ่งยาก หรือใช้อุปกรณ์เยอะ

“สำหรับบ้านสู้ฝุ่น เป็นบ้านของคนที่อยู่ในเมือง โดยเป็นบ้านประชาชนทั่วไป หมายถึง คนที่มีใจและอยากจะลุกขึ้นมาทำให้บ้านตัวเองมีต้นไม้ดักฝุ่น มีการฉีดฝอยน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้น และอยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน เพราะว่าเป็นเรื่องจากการเริ่มจากจุดง่าย ๆ คือ บ้านตัวเอง และมีความเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตผู้คนดีขึ้นด้วย และปัญหาก็ลดลง ในส่วนของข้อมูลวิชาการเรื่องต้นไม้ หรือการติดตั้งเครื่องต่าง ๆ ก็ต้องมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาฝุ่นควันได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายชัชวาล กล่าว

การปรับบ้านเพื่อบรรเทาผลกระทบจากฝุ่นควัน มี 3 ขั้นตอน ดังนี้

1.เจ้าของบ้านจิตอาสา ต้องยินดีเข้าร่วมอบรมในกิจกรรมการปรับปรุงบ้าน

2.ปรับปรุงภูมิทัศน์ของบ้านและติดตั้งอุปกรณ์ ทั้งระบบน้ำฝอย ปลูกพันธุ์ไม้ซับฝุ่น และเครื่อง “DustBoy” อุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กด้วยระบบเซ็นเซอร์ที่พัฒนาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

3.เจ้าของบ้านร่วมทำกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้ เรื่องมลพิษทางสิ่งแวดล้อมให้แก่คนในชุมชน

บ้านสู้ฝุ่น” เป็นอีกหนึ่งโครงการ ที่ สสส. ได้ให้การสนับสนุนในการขับเคลื่อนเพื่อลดปัญหามลพิษฝุ่นควันของทางภาคเหนือ และตั้งเป้าว่าจะต่อยอด ขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในอนาคต ซึ่งภารกิจนี้ เป็นหนึ่งในโจทย์สำคัญที่ สสส. ขับเคลื่อนงานร่วมกับกับภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคง แข็งแรง ในการสร้างสังคมอากาศสะอาด โดยเริ่มจากหน่วยที่เล็กที่สุดอย่าง บ้าน เพื่อให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของปัญหา และเต็มใจแก้ปัญหานี้ไปพร้อมกัน เพื่อร่วมสร้างสังคมอากาศสะอาดอย่างยั่งยืน