กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ชี้เป้าส่งออก “แมลง-โปรตีนจากแมลง-อาหารจากแมลง” เจาะตลาดสหรัฐฯ รับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนะควรนำเสนอเป็นอาหารสำเร็จรูป ของท่านเล่น โปรตีนบาร์ เลี่ยงการทอด ให้ใช้วิธีอบแห้งแทน เน้นทำตลาดผ่านร้านอาหาร ใช้เป็นวัตถุดิบทำเบเกอรี่ อาหารสัตว์ และขายผ่านช่องทางออนไลน์
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่าง ๆ ล่าสุดได้รับรายงานจาก นางสุปรารถนา กมลเวชช ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก สหรัฐฯ ถึงเทรนด์การเติบโตของตลาดการบริโภคแมลงในตลาดสหรัฐฯ ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและน่าจับตามอง เพราะจะเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของไทยสำหรับสินค้าแมลง โปรตีนจากแมลง และอาหารจากแมลง
ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้รายงานว่า บริษัทวิจัยตลาด Meticulous Market Research Inc. ของสหรัฐฯ ได้ให้ข้อมูลว่า ช่วงปี 2565–2573 ตลาดแมลงที่รับประทานได้จะมีอัตราการเติบโตร้อยละ 28.3 มีมูลค่า 9,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 3,139,035 ตัน เติบโตร้อยละ 31.1 เนื่องจากเป็นโปรตีนทางเลือกที่อุดมไปด้วยสารอาหารและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ โดยรูปแบบที่บริโภค จะมีทั้งแบบผง แป้ง ผลิตภัณฑ์ในรูปมืออาหาร น้ำมัน และการรับประทานเป็นตัว ส่วนแมลงที่นิยมนำไปผลิตเป็นโปรตีนทางเลือก ได้แก่ จิ้งหรีด หนอน แมลงวันลาย หนอนนก หนอนควาย ตั้กแตน มด หนอนไหม จั้กจั่น
โดยโปรตีนทางเลือก จะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งคาดว่าจะมีสัดส่วนตลาดมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ รองลงมา คือ อาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ สัตว์น้ำ หรือสัตว์เลี้ยง ซึ่งมีทั้งผลิตภัณฑ์ผง แป้ง โปรตีนบาร์ และ Shake ขนมขบเคี้ยว ขนมอบ ลูกกวาด แมลงทั้งตัวแปรรูป เครื่องดื่ม โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์ในรูปผงจะขยายตัวมากกว่ากลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพราะการออกกำลังกายมีมากขึ้น ทำให้ต้องการโปรตีนแบบผง ซึ่งผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีดจะมีสัดส่วนมากที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ
นายภูสิตกล่าวว่า โอกาสในการทำตลาดของผลิตภัณฑ์แมลงของไทยในสหรัฐฯ ควรได้รับการพัฒนาในด้านการผลิตให้เกิดความหลากหลายรูปแบบเป็นสินค้าอาหาร เช่น การนำเสนอเป็นอาหารสำเร็จรูป เป็นของทานเล่น (Snack) หรือโปรตีนบาร์ ควรเลี่ยงการทอดแมลง แต่หันไปใช้วิธีอบแห้ง (Dehydration) และรวมไปถึงการพิจารณาใช้บรรจุภัณฑ์ โดยควรเน้นการใส่ซอง ถุง และมีรูปสวยงาม หรือใส่ขวดแก้ว ขวดพลาสติก อีกทั้งให้พิจารณาผลิตแมลงแช่แข็ง ซึ่งจะขยายอายุของสินค้าให้นานออกไป
ส่วนช่องทางการทำตลาด ควรใช้ธุรกิจบริการอาหาร (ร้านอาหาร) เป็นช่องทางที่สำคัญของการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แมลง เพราะผู้ใช้ คือ ภัตตาคาร ร้านอาหาร ซึ่งจะนำไปใช้เป็นส่วนผสมในการประกอบอาหาร และการนำเสนอสินค้าเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต เช่น การผลิตอาหารสัตว์ และเบเกอรี่ เป็นต้น และควรเจาะตลาดผู้บริโภคฮิสแปนิก โดยเฉพาะชาวเม็กซิกัน ที่นิยมบริโภคแมลงเป็นส่วนหนึ่งของอาหาร จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ควรพิจารณาและประยุกต์สินค้าตามรสนิยมของผู้บริโภค
นอกจากนี้ ควรใช้ช่องทางการค้าออนไลน์ โดยเฉพาะการขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ เช่น amazon.com หรือ ebay หรือ walmart.com จะเป็นช่วยนำเสนอสินค้าโดยตรงให้แก่ผู้บริโภค
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169
**********************************
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
1 มิถุนายน 2565