กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือยกระดับการดำเนินงานในคดีอุ้มบุญซึ่งผ่านมติคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษให้เป็นคดีพิเศษแล้ว ผนึกกำลัง 2 หน่วยงาน กวาดล้างการรับจ้างอุ้มบุญที่ผิดกฏหมาย หยุดยั้งการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ และนำตัวผู้กระทำความผิดไม่ว่าชาวไทยหรือต่างชาติมาดำเนินการตามกฎหมายจนถึงที่สุด
วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ณ อาคารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรม สบส. และ นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์
นพ.ธเรศ ให้สัมภาษณ์ภายหลังพิธีลงนามฯว่า เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ นับเป็นหนึ่งในความหวังของ คู่สามี ภรรยาที่ต้องการจะมีบุตรโดยชอบตามกฎหมาย แต่ด้วยความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ย่อมมีผู้ฉกฉวยโอกาสในการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ทางการแพทย์ในทางที่ผิด กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรากฎหมาย “พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558” ขึ้น
ด้วยเจตนารมณ์ในการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ และควบคุมการนำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ไปใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม แต่ก็ยังมีผู้เห็นแก่ผลประโยชน์ ลักลอบนำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ทางการแพทย์มาใช้ในทางที่ผิด โดยมิเกรงกลัวกฎหมาย ซึ่งในบางคดีผู้กระทำความผิด มีการพัฒนารูปแบบ วิธีการ ทั้งในด้านกรรมวิธี มีการดำเนินการเป็นขบวนการโดยนำเทคนิคสมัยใหม่มาประกอบการกระทำความผิด จนทำให้เกิดความยากในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ
ดังนั้น เพื่อป้องปราม และกวาดล้างการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ซึ่งในบางครั้งผู้กระทำความผิดก็มิได้มีเพียงชาวไทยแต่มีชาวต่างชาติ หรือองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติร่วมกระทำความผิดด้วย กรม สบส.จึงร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ เพื่อยกระดับความร่วมมือในการปฏิบัติงานของคดีที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ อย่างเช่น การรับจ้างตั้งครรภ์แทน หรือเรียกติดปากกันว่าอุ้มบุญ ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานจะร่วมกันบูรณาการความร่วมมือในการสืบสวนคดี ตรวจสอบข้อเท็จจริง และเข้าถึงข้อมูล ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างเข้มข้น เกิดการป้องปราม กวาดล้างการกระทำผิดกฎหมาย ตัดตอนเส้นทางการเงิน และนำตัวผู้กระทำความผิดไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือต่างชาติมาดำเนินการตามกฎหมายได้อย่างถึงที่สุด
ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส.กล่าวต่อว่า กรม สบส.ได้รวบรวมข้อมูลการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ของประเทศไทย พบว่ามีอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์โดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 45 มีการให้บริการทำเด็กหลอดแก้วกว่า 20,000 รอบการรักษา การผสมเทียมกว่า 12,000 รอบ มีการพัฒนาระบบเพื่อส่งเสริมสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ผ่านการรับรองมาตรฐานการรวมทั้งสิ้น 104 แห่ง และมีการพิจารณาอนุญาตดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน หรือที่เรียกว่า “อุ้มบุญ” แล้ว 584 ราย สร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 4,500 ล้านบาท
ซึ่งในปี 2565 ที่ประเทศไทยมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ คาดว่าจะมีผู้เดินทางเข้ามารับบริการทางการแพทย์ในไทยเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการยกระดับคดีที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ให้เป็นคดีพิเศษ จะส่งเสริมให้การดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล อีกทั้ง สร้างความเชื่อมั่นถึงมาตรฐานทางการแพทย์ของไทยต่อผู้รับบริการทั้งไทยและต่างชาติด้วย
ทั้งนี้ หากพบการกระทำผิดกฎหมายฯ อย่างรับจ้างตั้งครรภ์แทน โฆษณาเชิญชวนให้มีการอุ้มบุญ หรือซื้อขายไข่ อสุจิ สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่สายด่วนกรม สบส. 1426 เพื่อติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
******************* 31 พฤษภาคม 2565