กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้แทนประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน ติดตามความสำเร็จการทำงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ปลื้มสมาชิกประสบความสำเร็จในการปรับปรุงกระบวนการระงับข้อพิพาททางการค้าให้มีความชัดเจนและเหมาะสมกับความสัมพันธ์ทางการค้าในปัจจุบัน ชี้ทำให้การค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนมีบรรยากาศดีขึ้น พร้อมตั้งเป้าลงนามพิธีสารฯ ฉบับใหม่ ในการประชุม AEM ครั้งที่ 51 ที่กรุงเทพฯ กันยายนนี้
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers : AEM) อย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 25 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 เมษายน 2562 ณ จังหวัดภูเก็ต ได้รับรายงานว่า เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา สมาชิกอาเซียนประสบความสำเร็จในการปรับปรุงกระบวนการระงับข้อพิพาททางการค้าของอาเซียน ที่หารือกันมาตั้งแต่ปี 2555 โดยเฉพาะในส่วนของขอบเขตการฟ้องร้อง ขั้นตอน และระยะเวลาของกระบวนการระงับข้อพิพาท ให้ชัดเจน และเหมาะสมกับบริบทความสัมพันธ์ทางการค้าของอาเซียนมากขึ้น ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าอาเซียนจะมีพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียนใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2539 แต่ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีสมาชิกอาเซียนใดใช้ประโยชน์จากพิธีสารฯ หรือกระบวนการระงับข้อพิพาททางการค้าของอาเซียนเพื่อแก้ปัญหาทางการค้า เนื่องจากอาจยังไม่มั่นใจประสิทธิภาพของการบังคับใช้พิธีสารดังกล่าว ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียนตั้งแต่ปี 2555
นางอรมน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จดังกล่าวถือเป็นผลงานสำคัญของไทยในฐานะประธานอาเซียน เนื่องจากการปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียนให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ จะช่วยเพิ่มทางเลือกให้สมาชิกอาเซียนมีที่พึ่งในการแก้ปัญหาทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียน โดยพิธีสารฯ ฉบับปรับปรุงใหม่นี้ มีกระบวนการที่สำคัญ ได้แก่ การหารือกันระหว่างประเทศคู่พิพาท การจัดตั้งคณะผู้พิจารณาเพื่อตัดสินกรณีพิพาท การอุทธรณ์คำตัดสิน การปฏิบัติตามคำตัดสิน การชดเชย และการตอบโต้ทางการค้าในกรณีที่ผู้แพ้คดีไม่ปฏิบัติตามคำตัดสิน
“กรณีพิพาททางการค้าคดีแรก เป็นกรณีพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยสิงคโปร์ฟ้องร้องมาเลเซียเรื่องมาตรการห้ามนำเข้าพลาสติกเรซิน ซึ่งทำให้ต้องพึ่งกระบวนการระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ดังนั้น หากอาเซียนมีกระบวนการระงับข้อพิพาทที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพใช้เอง จะเป็นอีกทางเลือกในการรับมือกับปัญหาทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยไม่ต้องพึ่งกลไกระงับข้อพิพาทภายนอก ทั้งนี้ ปัจจุบัน WTO ยังประสบปัญหากรณีสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ 6 ใน 7 คน จะครบเทอมสิ้นปีนี้ ซึ่งหากสมาชิก WTO ไม่สามารถตกลงเลือกสมาชิกองค์กรอุทธรณ์แทนตำแหน่งที่จะว่างลงได้ จะทำให้กระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO หยุดชะงัก” นางอรมน กล่าว
ทั้งนี้ อาเซียนตั้งเป้าหมายจะลงนามพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียนฉบับปรับปรุงใหม่ ในช่วงการประชุม AEM ครั้งที่ 51 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ที่กรุงเทพฯ ในเดือนกันยายนนี้ และจะมีผลใช้บังคับภายหลังจากที่ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ดำเนินกระบวนการภายในประเทศเสร็จสิ้น