ตามที่ ปรากฏเป็นข่าวเผยแพร่ทางสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2565 กรณีที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย ได้ตั้งข้อสังเกตในประเด็น การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าไปเมืองทองธานี ทั้งที่เดิมทีแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ไม่ได้เชื่อมต่อเข้าเมืองทองธานี เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนเจ้าของเมืองทองธานีหรือไม่ นั้น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
1. ส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ เข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานี เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
รฟม. ได้ดำเนินการศึกษารายละเอียดความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายฯ พบว่า เป็นประโยชน์ต่อการให้บริการแก่ประชาชนและสาธารณะ โดยจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณรถหนาแน่นเต็มความจุของถนนที่สามารถรองรับได้ อันจะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากลดการสูญเสียน้ำมันเชื้อเพลิงจากปัญหาการจราจรติดขัด
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายฯ เป็นการขยายโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder) เพื่อรองรับพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่น แหล่งพาณิชยกรรม และหน่วยงานราชการ ในพื้นที่เมืองทองธานี ซึ่งมีประชากรในพื้นที่กว่า 30,000 คน และมีผู้เดินทางเข้า – ออก ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากพื้นที่เมืองทองธานีเป็นที่ตั้งของที่อยู่อาศัย ชุมชนขนาดใหญ่ สถานที่ราชการ อาคารสำนักงาน มหาวิทยาลัย ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม สนามกีฬา
อาทิ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง อาคารที่พักอาศัย ขนาดใหญ่ไม่น้อยกว่า 20 อาคาร มหาวิทยาลัยศิลปากรวิทยาเขตเมืองทองธานี วัดผาสุกมณีจักร โรงเรียนบีเอฟเอส โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย SCG Stadium ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม IMPACT เมืองทองธานี เป็นต้น
ดังนั้น โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายฯ จึงช่วยให้ประชาชนสามารถเดินทางเชื่อมต่อทางสายหลักโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ เข้าสู่พื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร โดยเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง สู่ระบบขนส่งมวลชนสายหลัก 4 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ดังนั้นการเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายฯ จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
2.การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายฯ เป็นไปตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 ได้มีมติเห็นชอบให้บรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายฯ ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางฯ โดยคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 ได้มีมติรับทราบสรุปมติที่ประชุม คจร. ดังกล่าว
ในการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายฯ รฟม. ได้เจรจากับผู้รับสัมปทาน (บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด) ซึ่งได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายฯ โดยผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและการลงทุนส่วนต่อขยายฯ เองทั้งหมด ได้แก่ ค่าก่อสร้างงานโยธา ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ค่างานระบบรถไฟฟ้าในส่วนต่อขยาย และ รฟม. ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่วนต่อขยายแต่อย่างใด และยังเป็นการเพิ่มโอกาสที่ รฟม. จะได้รับส่วนแบ่งผลตอบแทนเพิ่มเติม กรณีมีผู้โดยสารสูงกว่าประมาณการผู้โดยสารมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ รฟม. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของสัญญาร่วมลงทุนฯ พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 รวมถึงพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และ พ.ศ. 2561 ทุกขั้นตอน จนกระทั่งคณะรัฐมนตรี ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีมติเห็นชอบการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี กรณี โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายฯ
รฟม. จึงขอเรียนยืนยันว่า รฟม. ได้ดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายฯ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและภาครัฐ โดยได้ดำเนินการตามขั้นตอน ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และยึดหลักธรรมาภิบาลโดยเคร่งครัด ติดตามข้อมูลข่าวสาร รฟม.เพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทรศัพท์ 0-2716-4044