เขตสุขภาพที่ 8 นำร่องระบบดูแลจิตเวชทางไกล ผ่านการเชื่อมโยงเครือข่าย 3 หมอ โรงพยาบาลและโรงพยาบาลจิตเวช เริ่มในกลุ่มผู้ป่วยไบโพล่า ช่วยให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาและติดตามอาการได้ต่อเนื่อง ผู้ป่วยอาการดีขึ้น อยู่ในสังคมได้ปลอดภัย พร้อมกับเปิดอาคารภูมิจิต โรงพยาบาลหนองคาย รองรับผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในพื้นที่และใกล้เคียง ลดการส่งต่อโรงพยาบาลเฉพาะทางนอกพื้นที่
วันที่ 30 พฤษภาคม 2565 ที่โรงพยาบาลหนองคาย จังหวัดหนองคาย นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นางรัจริน วงศ์รจิต นายกสมาคมแม่บ้านสาธารณสุข นายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 และคณะผู้บริหาร ติดตามการดำเนินงาน ด้านการแพทย์และสาธารณสุข และเปิดอาคารภูมิจิต โรงพยาบาลหนองคาย
นายแพทย์เกียรติภูมิ เปิดเผยว่า จากรายงานการดำเนินงานด้านสุขภาพจิต ของเขตสุขภาพที่ 8 ซึ่งประกอบด้วย อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย หนองบัวลําภู และบึงกาฬ พบว่า ในปีงบประมาณ 2564 มีอัตราการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 84.24% ผู้ป่วยโรคจิตเภท 100% และ อัตราฆ่าตัวตายสำเร็จ 7.44 ต่อแสนประชากร
โดยปัญหาการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก การเข้าถึงบริการกลุ่มโรคจิตเวชเด็ก และปัญหาการฆ่าตัวตาย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงบูรณาการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ด้วยแนวคิด R8 Mental Health ประกอบด้วย การพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวช การส่งเสริมสุขภาพจิต การป้องกันปัญหาสุขภาพจิต การเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต และงานสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและช่วยป้องกันการเกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังพัฒนาระบบการรักษาจิตเวชทางไกล โดยเชื่อมโยงเครือข่ายระบบ 3 หมอ โรงพยาบาลทั่วไป กับโรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์ และโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาและติดตามอาการผู้ป่วยได้สะดวกยิ่งขึ้น ลดการรอคอยรักษาและลดการเดินทาง ที่สำคัญ ทำให้การดูแลรักษามีความต่อเนื่อง ผู้ป่วยอาการสงบลง ไม่กลับมาเป็นซ้ำ และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัย โดยเริ่มนำร่องให้บริการในผู้ป่วยโรคไบโพล่า และจะขยายผลไปยังผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังกลุ่มอื่น ๆ ต่อไป
สำหรับอาคารภูมิจิต โรงพยาบาลหนองคาย เป็นการขยายบริการบำบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ติดยาเสพติดได้เข้าถึงการบริการอย่างทั่วถึง โดยเปิดให้บริการทั้งผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยในจำนวน 17 เตียง รองรับผู้ป่วยในพื้นที่และใกล้เคียงซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับโรงพยาบาลชุมชน และรพ.สต. รวมถึงประสานกับ สภ.เมืองหนองคาย ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการก้าวร้าวควบคุมไม่ได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับบริการรักษาใกล้บ้าน ลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วย ครอบครัว ชุมชน และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรับการรักษานอกพื้นที่