วันที่ 28 พฤษภาคม 2565 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า คณะกรรมการประมวลสถานการณ์โควิด 19 (MIU) กระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอข้อมูลสถานการณ์โควิด 19 ในที่ประชุม EOC กระทรวงสาธารณสุข ว่า สถานการณ์ดีขึ้นมาก ในขณะที่ความรุนแรงของเชื้อลดลง และระดับภูมิคุ้มกันของประชาชนอยู่ในระดับสูงขึ้นมาก ทั้งจากการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อก่อนหน้านี้ มาตรการสำคัญขณะนี้ ต้องขอความร่วมมือประชาชน ขอให้กลุ่มเสี่ยง ผู้มีโรคประจำตัวและผู้สูงอายุมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อลดโอกาสที่จะป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ได้มอบหมายทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อม พัฒนาระบบสาธารณสุขในการรับมือประเด็นท้าทายหลังพ้นยุคโควิด ตามที่ คณะกรรมการ MIU กระทรวงสาธารณสุขให้ข้อเสนอแนะทางนโยบาย
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง และประธานคณะกรรมการ MIU กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการยอมรับ เป็นต้นแบบในระดับนานาชาติและได้รับการชื่นชมจากองค์การอนามัยโลกในการรับมือสถานการณ์เป็นอย่างดี ได้เกิดนวัตกรรมและทักษะใหม่ๆ ในระบบสุขภาพ ซึ่งขณะนี้สถานการณ์อยู่ในทิศทางดีขึ้นมากชัดเจน คณะกรรมการฯ โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้ศึกษาทบทวนปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงในประเทศ โอกาสและความท้าทายในระบบสุขภาพจากฐานข้อมูลทั้งในและต่างประเทศ การสำรวจและการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหาร ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเป็นข้อมูลเตรียมการดำเนินงานด้านสาธารณสุขหลังสิ้นสุดการระบาดโควิด 19 ต่อไป ผลการศึกษาพบประเด็นท้าทายและข้อเสนอในการพัฒนา 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
1) การพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้พร้อมกับความต้องการบริการสุขภาพของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น ต้องพัฒนาทักษะของบุคลากรให้เหมาะสมกับระบบสุขภาพยุคใหม่ และทำงานด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ
2) เตรียมรับมือปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทั้งจากภาวะโลกร้อน และปัญหาภัยธรรมชาติ ต้องพัฒนาระบบเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลง
3) การสื่อสารด้านสุขภาพ พบว่า ประชาชนจะมีความต้องการข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพมากขึ้น ขณะที่มีข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับโรคหรือสุขภาพจำนวนมาก ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเป็นภาระในการทำงานของบุคลากรสุขภาพ จึงต้องเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงานในระบบสุขภาพให้สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ทัศนคติและพฤติกรรมที่ดีด้านสุขภาพ
4) การกระจายอำนาจ และความพร้อมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการรับมือปัญหาสุขภาพจะเป็นบทบาทของท้องถิ่นมากขึ้น ทำให้บุคลากรต้องปรับตัวในการทำงานร่วมกับท้องถิ่น ต้องพัฒนา ส่งเสริมสนับสนุนการบริหารจัดการและจัดสรรทรัพยากรในระบบสุขภาพไปยังหน่วยบริการภายใต้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ การพัฒนาระบบและทรัพยากรบุคคล
5) ปัญหาความยากจนที่รุนแรงขึ้นจากสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมา เป็นปัจจัยสังคมที่กระทบต่อสุขภาพ ทำให้ประชาชนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีลดลง ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังรุนแรงมากขึ้น จึงต้องเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการด้านสุขภาพเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมทั้งทุกภาคส่วนอื่นๆ ต้องร่วมแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคม
6) เทคโนโลยีด้านสุขภาพ ซึ่งมีนวัตกรรมด้านสุขภาพที่ช่วยลดภาระบุคลากรและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสุขภาพมากขึ้น แต่ระบบประกันสุขภาพอาจไม่สามารถรองรับภาระค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด จึงต้องพัฒนากลไกในการตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ
นพ.รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า พบประเด็นที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม คือ เพิ่มการใช้ประโยชน์จากระบบข้อมูลข่าวสารให้เต็มศักยภาพ สนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลและเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ปรับปรุงการคลังในระบบสุขภาพโดยหาแหล่งทุนในภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม ปฏิรูประบบสุขภาพและกฎหมายรองรับเทเลเมดิซีนและเทคโนโลยีสุขภาพรูปแบบดิจิทัล เพิ่มขีดความสามารถของประชาชนในการวิเคราะห์และตรวจสอบข้อเท็จจริงจากข้อมูลข่าวสาร การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม และเพิ่มความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องสาธารณสุข
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อม ประสานความร่วมมือ ดำเนินการพัฒนาระบบสาธารณสุขในการรับมือประเด็นท้าทายหลังพ้นยุคโควิดเพื่อพัฒนาระบบระบบและการดูแลประชาชนให้มีสุขภาพ ความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน