นโยบายสาธารณะเพื่อการขับเคลื่อน ‘อาหารปลอดภัย’ วงถกหนุนชุมชนไทยมีส่วนร่วมสร้าง ‘เกษตรกรรมยั่งยืน’

สช.ตั้งวงถกโอกาส-ความท้าทาย การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้าน “อาหารปลอดภัย” ผอ.เกษตรต่างประเทศฯ ย้ำเป็นวาระในระดับโลก ชวนชุมชนไทยร่วมผลักดัน “เกษตรกรรมยั่งยืน” หนุนเสริมความสำเร็จของประเทศ พร้อมมองการเชื่อมฐานข้อมูลภาคประชาชน

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดวงเสวนาในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ” โดยเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งภายในการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังสร้างความเข้มแข็งนโยบายสาธารณะว่าด้วย “ร่วมสร้างเส้นทางอาหาร ให้มั่นคงและปลอดภัย” ซึ่งเป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนข้อมูล วิเคราะห์ และให้ข้อคิดเห็นต่อแนวทางการผลักดันนโยบายสาธารณะด้านความมั่นคงทางอาหาร ร่วมกับตัวแทนเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดทั่วประเทศ

ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ประเด็นเรื่องของอาหารกลายเป็นหนึ่งในวาระใหญ่ช่วงปีที่ผ่านมา จากที่มีการจัดประชุมสุดยอดผู้นำ UN Food Systems Summit 2021 ซึ่งเป็นวาระพิเศษที่เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ให้มีการจัดขึ้น โดยใช้เรื่องของอาหารเป็นตัวเชื่อม เพื่อให้ทุกคนลุกขึ้นมาเดินหน้าตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) หลังจากที่มีการมองว่าอาจทำไม่ได้ตามเป้าหมายภายในปี ค.ศ.2030 อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ไปจนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม โลกร้อน ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งความเป็นอยู่ของผู้คนที่มีความเปราะบางมากยิ่งขึ้น

ดร.วนิดา กล่าวว่า การขับเคลื่อน SDGs ในช่วง ค.ศ.2020-2030 กำลังถูกเรียกว่า Decade of Action หรือทศวรรษแห่งการปฏิบัติ เพราะจะไม่ใช่การพูดถึงแผนอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ต้องมุ่งสู่มาตรการที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ และตอบโจทย์ให้ได้ตามเป้าหมาย โดยหนึ่งในเป้าหมายด้านอาหารนั้นคือการทำเกษตรกรรมยั่งยืน ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีตัวชี้วัดหนึ่งคือการดูสัดส่วนของพื้นที่ที่มีการทำเกษตรยั่งยืน ดังนั้นประเทศไทยเองก็ควรมีการยกระดับในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

“ขณะนี้เป็นโอกาสดีที่เราจะต่อยอด และประกาศจุดยืนในการร่วมพลิกโฉมไปสู่ระบบการเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตามแม้เราจะเห็นว่ามีความสำเร็จในระดับพื้นที่ แต่เราจะสามารถนำเอาส่วนที่ทุกคนทำเหล่านี้ เข้ามาผนวกรวมกันเพื่อเป็นข้อมูลของประเทศได้อย่างไร ข้อมูลภาคประชาชนจะเข้ามารวมกับภาครัฐอย่างไร ต้องมาช่วยกันคิดว่าข้อมูลอะไรที่เอามาใช้ได้ ไม่ต้องไปหาใหม่ หรืออะไรที่ยังไม่มีก็ช่วยกันคิดว่าจะเก็บมาได้อย่างไร” ดร.วนิดา กล่าว

นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ความหมายและขอบเขตของนโยบายสาธารณะ ถูกรับรองไว้ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับเดียวของประเทศไทยที่บรรจุคำนี้ไว้ ฉะนั้นการที่จะนำกระบวนการนโยบายสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นสมัชชาสุขภาพ หรือธรรมนูญสุขภาพในระดับใดๆ ให้เข้าไปต่อเชื่อมกับการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐโดยเป็นที่รับรู้และยอมรับ จึงจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจถึงโครงสร้างและการทำงานของระบบบริหารราชการด้วย

นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า สำหรับโครงสร้างของประเทศ 4 ด้านหลักที่ต้องเข้าใจ คือ

1. การบริหารราชการแบบแนวดิ่ง ที่แยกส่วนกัน แต่สิ่งที่จะมาเชื่อมเพื่อประสานกันในแนวนอน คือยุทธศาสตร์และแผนงานในระดับต่างๆ

2. โครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน ที่แบ่งเป็นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องรู้ว่างานที่ทำอยู่ในจุดใด

3. วิธีงบประมาณ ที่มาที่ไปและการใช้เงินภาษีของเรา

4. โครงสร้างการมีส่วนร่วมต่างๆ ของประชาชนที่ถูกออกแบบไว้

ด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในบริบทของสังคมไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งจะต้องอาศัยการเข้าหาผู้ที่มีบทบาทในการตัดสินใจ และนำเสนอนโยบายเพื่อหาทางผลักดันในเรื่องเหล่านั้น โดยมีทางเลือกเพื่อให้ผู้มีอำนาจสามารถตัดสินใจ ขณะเดียวกันนอกจากข้อเสนอที่ขอให้ใครทำอะไรแล้ว อาจมองถึงบทบาทหน้าที่ของตนเองได้ด้วยว่าจะมีส่วนในการขับเคลื่อนเรื่องนั้นได้อย่างไร

นพ.ปรีดา กล่าวว่า อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญมากในยุคปัจจุบัน คือในแง่ของการสื่อสาร สร้างการรับรู้ในประเด็นต่างๆ ที่เราอาจมองเห็นตัวอย่างจาก Soft Power ที่เกิดขึ้นมากมาย และกระตุ้นปรากฏการณ์บางอย่างให้เกิดขึ้นได้อย่างฉับพลัน อย่างเช่นกระแสของลูกชิ้นยืนกิน หรือข้าวเหนียวมะม่วง ในทางกลับกันก็มีของดีอีกมากมายที่อาจขายไม่ได้หากไม่มีการสื่อสารที่ดีพอ ฉะนั้นการจะทำนโยบายสาธารณะให้ได้ผล การสื่อสารเองก็จะเป็นสิ่งสำคัญ