ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง กดดันให้ ดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.58% ท่ามกลางความกังวลว่าปัญหาเงินเฟ้ออาจส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึง การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเพื่อคุมเงินเฟ้อก็อาจฉุดให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงและเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอย (Recession) ได้ นอกจากนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด อาทิ ดัชนีภาคการผลิตที่สำรวจโดยเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย (Philly Fed Manufacturing Index), ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Conference Board Leading Index) และ ยอดผู้รับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ก็ต่างออกมาแย่กว่าคาด กดดันบรรยากาศในตลาดการเงินเพิ่มเติม
ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรปยังคงปรับตัวลงต่อ -1.36% เช่นกัน กดดันโดยความกังวลปัญหาเงินเฟ้อที่อาจกดดันให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้เร็ว ขณะเดียวกันเศรษฐกิจยุโรปก็เผชิญความเสี่ยงที่อาจชะลอตัวลงมากขึ้น จากผลกระทบของปัญหาเงินเฟ้อที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น หากยุโรปมีการคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย จนอาจส่งผลให้ราคาสินค้าพลังงานพุ่งสูงขึ้นรุนแรง
ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงและเลือกที่จะถือพันธบัตรรัฐบาลเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 2.84% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ Sideways และผู้เล่นในตลาดอาจเน้นเทรดในกรอบ (Buy on Dip and Sell on Rally) โดยคาดว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวในกรอบ 2.75%-3.00% ในช่วงนี้ โดยแผนการทยอยลดงบดุลของเฟดที่จะเริ่มในเดือนมิถุนายน อาจช่วยหนุนไม่ให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงไปมากได้ ในขณะที่ ภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาดก็อาจกดดันไม่ให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นไปมากได้เช่นกัน
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงสู่ระดับ 102.9 จุด นับเป็นการอ่อนค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ โดยแม้ว่า ตลาดจะยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงและยังคงต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ทว่าผู้เล่นบางส่วนก็อยากทยอยขายทำกำไรเงินดอลลาร์และกระจายความเสี่ยงการถือสินทรัพย์ปลอดภัยไปยังสินทรัพย์อื่นๆ อาทิ พันธบัตรรัฐบาล หรือ ค่าเงินเยนญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ได้หนุนให้ ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 1,840 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า การปรับตัวขึ้นราว 40 ดอลลาร์ จากโซนแนวรับก่อนหน้า อาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวจะเป็นปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้
สำหรับวันนี้ ตลาดประเมินว่า แม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะทยอยฟื้นตัว แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนเมษายนอาจเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 2.5% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลของการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าพลังงานและผลของการปรับลดค่าบริการโทรศัพท์มือถือในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นยังคงไม่ได้มาจากความต้องการบริโภคที่สูงขึ้นเป็นหลัก ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังมีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป
ส่วนในฝั่งจีน ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจยังคงต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดย PBOC อาจปรับลด อัตราดอกเบี้ย MLF ประเภท 1 ปีลงในระยะสั้นนี้ ซึ่งแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของ PBOC อาจทำให้บรรดาธนาคารพาณิชย์ต่างปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกหนี้ชั้นดี (LPR) โดยผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า PBOC จะประกาศ LPR (หลังรวบรวมจากบรรดาธนาคารพาณิชย์) ที่ลดลงสู่ระดับ 3.60% สำหรับ LPR 1 ปี และลดลงสู่ระดับ 4.55% สำหรับ LPR 5 ปี
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แม้เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ทว่า หากตลาดยังไม่กลับมาเปิดรับความเสี่ยง เงินบาทก็ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนและอาจอ่อนค่าลงใกล้โซนแนวต้านก่อนหน้าในช่วง 34.70 บาทต่อดอลลาร์ได้
อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ เงินบาทอาจพอได้รับแรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำบ้าง แต่ หากนักลงทุนต่างชาติไม่ได้กลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้น เงินบาทก็อาจไม่ได้แข็งค่าไปมาก ซึ่งเรามองว่าการแข็งค่าของเงินบาทอาจถูกจำกัดด้วยโฟลว์ธุรกรรมของบรรดาผู้นำเข้าที่ต่างรอทยอยซื้อเงินดอลลาร์ในช่วง 34.40 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.35-34.55 บาท/ดอลลาร์
________________________________________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย