ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันที่ 10 พ.ค. 65 ที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.62 บาทต่อดอลลาร์

ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกซบเซาหนัก จากทั้งปัญหาการระบาดของโอมิครอนในจีน และนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นของบรรดาธนาคารกลางเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดันให้ ผู้เล่นในตลาดการเงินเดินหน้าปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง สะท้อนผ่านการลดสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง อาทิ หุ้น คริปโตฯ และหันมาเพิ่มการถือครองเงินสด โดยเน้น เงินดอลลาร์ เป็นหลัก

นอกจากนี้ ภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ของผู้เล่นในตลาดได้ส่งผลให้ในฝั่งสหรัฐฯ นักลงทุนยังคงเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงต่อเนื่องกว่า -4.29% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวลงแรงต่อถึงกว่า -3.20% ซึ่งเรามองว่า นักลงทุนอาจยังไม่ต้องรีบเข้ามาซื้อหุ้นสหรัฐฯ หลังดัชนีหลักของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ปรับตัวลงแรงจนหลุดแนวรับสำคัญและมีโอกาสที่ปรับตัวลดลงต่อได้ อย่างไรก็ดี เรามองว่า ท่ามกลางแนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง และความไม่สมดุลระหว่าง Supply-Demand ในตลาดน้ำมันที่ยังคงมีอยู่ในปีนี้ จะทำให้ หุ้นในกลุ่มพลังงาน และหุ้นในกลุ่ม Healthcare จะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้ ซึ่งนักลงทุนอาจใช้จังหวะที่ตลาดหุ้นปรับฐานในการทยอยสะสมการลงทุนในหุ้นดังกล่าวได้เช่นกัน

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรปก็ผันผวนหนักเช่นกัน โดยแม้ว่ารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนยุโรปที่ได้ประกาศมาแล้วกว่า 60% ของบริษัททั้งหมด จะออกมาดีกว่าคาดถึง 72% ทว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวล จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวหนักจากการทยอยขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง ปัญหาการระบาดของโอมิครอนในจีน และผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ ดัชนี STOXX50 ปรับตัวลงกว่า -2.82% นำโดยหุ้นกลุ่มเทคฯ ASML -7.2%, Infineon Tech -6.0% กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย L’Oreal -3.7%, Louis Vuitton -3.4%

ทางด้านตลาดบอนด์นั้น ก็เผชิญความผันผวนหนักเช่นกัน โดยในช่วงแรกบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นต่อเนื่องแตะจุดสูงสุดใหม่ที่ 3.20% หลังผู้เล่นในตลาดยังมองว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดก็ยังดำเนินต่อไป เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ ก่อนที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะย่อตัวลงกลับสู่ระดับ 3.03% ตามความต้องการเพิ่มการถือครองบอนด์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในจังหวะที่ตลาดผันผวนหนัก สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คงมองว่า จุดสูงสุดของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กำลังใกล้เข้ามาและจะอยู่ในไตรมาสที่ 2 นี้ และเชื่อว่านักลงทุนสถาบันจะรอจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ ในการทยอยเพิ่มสถานะถือครอง หรือ เพิ่ม Duration พอร์ตการลงทุน

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ก็เผชิญความผันผวนเช่นกัน โดยในช่วงการซื้อขายในฝั่งเอเชียเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบสกุลเงินหลัก ก่อนที่จะย่อตัวลงเล็กน้อย ตามการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ทรงตัวใกล้ระดับ 103.7 จุด ทั้งนี้ เรามองว่า ในระยะสั้น เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด จนกว่าตลาดจะเริ่มคลายกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งต้องรอความชัดเจนจากรายงานข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในสัปดาห์นี้ อนึ่ง แม้ว่าตลาดจะปิดรับความเสี่ยงหนัก แต่ราคาทองคำกลับปรับตัวลง สู่ระดับ 1,853 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นบางส่วนอาจรอทยอยซื้อทองคำ ในจังหวะย่อตัวหนัก เพื่อลุ้นการรีบาวด์เหมือนในรอบที่ผ่านมา โดยโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจเป็นแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้

สำหรับวันนี้ ตลาดจะจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจในฝั่งยุโรป โดยมองว่า ความกังวลผลกระทบจากสงครามที่อาจชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป รวมถึงความกังวลแนวโน้มธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจทยอยขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อจะส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Survey) ในเดือนพฤษภาคม ปรับตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ -43 จุด ซึ่งแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปที่ไม่สดใสนักจะสะท้อนผ่านตลาดหุ้นยุโรปและค่าเงินยูโร (EUR) ที่อาจแกว่งตัว sideways ในระยะสั้น

ส่วนในฝั่งไทย เราประเมินว่า ผลกระทบจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งราคาสินค้าพลังงานและราคาอาหาร ในขณะที่การจ้างงานยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก จะกดดันให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนเมษายน ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 40 จุด ทั้งนี้ หากไม่มีปัญหาการระบาดที่รุนแรงหลังการทยอยเปิดเมือง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นได้ ตามการจ้างงานที่อาจดีขึ้น นอกจากนี้ หากมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล อาทิ เราคนละครึ่งเฟสใหม่ ก็อาจช่วยพยุงความเชื่อมั่นผู้บริโภคและช่วยให้การบริโภคยังขยายตัวต่อเนื่องได้

นอกจากนี้ ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อรอประเมินมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ทิศทางเงินเฟ้อและทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งหากไม่ได้มีการส่งสัญญาณสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยจากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ก็อาจช่วยทำให้บรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มดีขึ้นได้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดที่ยังคงหนุนเงินดอลลาร์จะเป็นปัจจัยที่กดดันเงินบาทในช่วงนี้ นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงฝั่งอ่อนค่าเงินบาทยังคงอยู่ โดยเฉพาะ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีน ที่ทำให้ นักลงทุนยังไม่รีบกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น EM Asia ทำให้ เรามองว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงที่อาจจะอ่อนค่าลงไปทดสอบแนวต้านใหม่แถว 34.75 บาทต่อดอลลาร์ได้ หลัง เงินบาทอ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์มาได้ นอกจากนี้ เรามองว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งอาจทำให้เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนและอ่อนค่าลงได้บ้าง

อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า หากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติไม่ได้ไหลออกรุนแรง เงินบาทก็จะไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก ซึ่งจุดกลับตัวของเงินบาทในระยะสั้นอาจเกิดขึ้นได้ หลังตลาดรับรู้รายงานเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนเมษายน และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยหากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอตัวลง และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดไม่ได้ส่งสัญญาณสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด เงินดอลลาร์ก็อาจอ่อนค่าลง พร้อมจังหวะการเริ่มเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ซึ่งจะพอช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.70 บาท/ดอลลาร์

พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย