วันที่9 พฤษภาคม 2565 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการสร้างเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 โดยมี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วยที่ปรึกษาคณะกรรมการสร้างความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพแห่งชาติ ประกอบด้วย นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ และนายพานิชย์ เจริญเผ่า รวมทั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัย สมาคมส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพไทย และมูลนิธิสถาบันความรอบรู้ไทย ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร อาคาร 1 ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการสร้างเสริม ความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพแห่งชาติในครั้งนี้ เป็นการประชุมครั้งแรก เพื่อเป็นการเริ่มต้นของการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นที่ 13 การเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี แผนย่อย (13.1) การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพและการป้องกันควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามสุขภาวะ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการบูรณาการการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาวะ มีการดูแลสุขภาพ มีพฤติกรรมสุขภาพ ที่พึงประสงค์ สามารถป้องกัน และลดโรคที่สามารถป้องกันได้
เพราะจากผลการสำรวจความรอบรู้ด้านสุขภาพของคนไทย อายุ 15 ปีขึ้นไปครั้งที่ 1 เมื่อปี 2562 พบว่า ในภาพรวมคนไทยมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ ร้อยละ 65 โดยประชาชนร้อยละ 19 มีความรอบรู้ไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจดูแลสุขภาพ ส่วนหนึ่งเกิดจากการมีข้อจำกัดในการสืบค้นและค้นหาข้อมูลข่าวสาร ด้านสุขภาพที่น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะความรอบรู้ด้านสุขภาพ โดยพบเรื่องที่คนไทยมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ น้อยที่สุด 4 ลำดับ คือ
ลำดับที่ 1 ผลิตภัณฑ์ยาและสุขภาพ
ลำดับที่ 2 บริการสุขภาพ
ลำดับที่ 3 การป้องกันโรค
ลำดับที่ 4 การส่งเสริมสุขภาพ
จึงต้องมีการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมให้คนไทยให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ผ่านการประชุมคณะกรรมการสร้างเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพแห่งชาติ เพื่อร่วมกันพิจารณาร่างแผนปฏิบัติการ การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาวะและการป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามสุขภาวะ ปี 2566 – 2570 สำหรับใช้ดำเนินการ สร้างความรอบรู้ประชาชนไทยต่อไป
ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมอนามัยได้ขับเคลื่อนความรอบรู้ด้านสุขภาพ และจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพไทย เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน โดยในระยะแรกได้ผลักดันประเด็นความรอบรู้ด้านสุขภาพเข้าสู่แผนพัฒนาประเทศที่สำคัญ ๆ อาทิ แผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ชาติด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสู่ความเป็นเลิศ สมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 11 – 12 และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่ 13 เป็นต้น โดยมีกรอบการขับเคลื่อนความรอบรู้ ด้านสุขภาพตามยุทธศาสตร์การปฏิรูป เพื่อยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพในประเทศไทย 5 ด้าน คือ
ด้านที่ 1) การพัฒนาองค์กรใน 3 ระบบใหญ่ให้เป็นองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพ
ด้านที่ 2) การสื่อสารและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ
ด้านที่ 3) การวิจัยและนวัตกรรม
ด้านที่ 4) การพัฒนากำลังคนด้านการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ
ด้านที่ 5) การพัฒนากลไกการขับเคลื่อนความรอบรู้ด้านสุขภาพ
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า นับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา กรมอนามัยและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันยกร่างแผนปฏิบัติการด้านความรอบรู้ด้านสุขภาพของกรมอนามัยให้สอดคล้องกับแผนแม่บท โดยเนื้อหา ในร่างแผนปฏิบัติการความรอบรู้ด้านสุขภาพสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาวะและการป้องกันปัจจัยเสี่ยง เพื่อขับเคลื่อน แผนปี 2566 – 2570 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก คือ
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเพิ่มศักยภาพในการจัดการสุขภาวะ ของคนทุกกลุ่มวัย เป้าหมายเพื่อให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพและเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย โดยเฉพาะข้อมูลความรู้ ด้านสุขภาพ Application Digital Health literacy เนื่องจากปัจจุบันมีปัญหาเรื่องข้อมูลท่วมท้น โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นเท็จ ไม่ถูกต้อง เมื่อประชาชนเชื่อถือข้อมูลเหล่านี้ก็จะส่งผลกระทบทั้งด้านการเงิน สุขภาพ และจิตใจ สิ่งที่จะเป็นภูมิคุ้มกัน ได้มากที่สุด คือ การรู้จักเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดการรับรู้ เข้าใจ และนำมาปฏิบัติอย่างถูกต้องต่อไป
“ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาภาคีเครือข่ายประชาชน องค์กร ชุมชนท้องถิ่น เป้าหมายเพื่อให้ชุมชน ภาคีเครือข่าย ทุกภาคส่วน (พชอ.) มีศักยภาพในการป้องกัน และควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามสุขภาวะ มีการพัฒนาองค์กรต้นแบบรอบรู้ ด้านสุขภาพ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ การศึกษา สังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี เป้าหมาย เพื่อการพัฒนา 3 ระบบ ด้านสาธารณสุข ด้านศึกษา และด้านสังคม ให้เกิดการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและตอบโต้ความเสี่ยงด้านสุขภาพ มีการณรงค์สื่อสารเกี่ยวกับข้อมูลสุขภาพ โดยเฉพาะ 4 เรื่องที่ต้องเร่งสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาและสุขภาพ ที่มักพบการโฆษณาชวนเชื่อที่เกินจริง ส่งผลให้ผู้บริโภคที่ซื้อต้องสูญเสียเงิน และยังส่งผลต่อสุขภาพหลังการใช้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับบริการสุขภาพ การป้องกันโรค และการส่งเสริมสุขภาพ อย่างต่อเนื่อง
ยุทธศาสตร์ที่ 4 สนับสนุนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เป้าหมายเพื่อพัฒนาศูนย์กลางการขับเคลื่อน ความรอบรู้ด้านสุขภาพระดับชาติ และมีเครือข่ายที่ประสานงาน ทั้งระดับส่วนกลาง และระดับภูมิภาค ตลอดจน การขับเคลื่อนนโยบายรอบรู้ด้านสุขภาพสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความครอบคลุมในการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ แก่ประชาชนทุกกลุ่มวัย กลุ่มด้อยโอกาส และกลุ่มเปราะบาง โดยมีเป้าหมายให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถเข้าถึง เข้าใจ ซักถาม ตัดสินใจ ปรับใช้ และบอกต่อข้อมูลด้านสุขภาพ บริการสุขภาพ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ยา และการส่งเสริมสุขภาพได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
***
กรมอนามัย / 9 พฤษภาคม 2565