วธ.เตรียมสร้างเว็บไซต์คลังข้อมูล“ผ้าไทย”ใหญ่ที่สุดในประเทศ เพื่ออนุรักษ์ส่งเสริมใช้ผ้าไทย สืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หนุนนักเรียน นักศึกษา และประชาชนนำไปใช้พัฒนาต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผ้าไทยสู่ระดับสากล ตั้งเป้าแล้วเสร็จในปีนี้
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) มุ่งขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการสืบสานงานศิลปวัฒนธรรมของชาติตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในการอนุรักษ์และส่งเสริมการใช้ผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่นและการรณรงค์ส่งเสริมอัตลักษณ์ความเป็นไทย รวมทั้งผลักดันยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน “Soft Power”ความเป็นไทยและส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่มีศักยภาพของไทย 5 F ได้แก่
อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) มวยไทย (Fighting) และการอนุรักษ์และขับเคลื่อน เทศกาล ประเพณีสู่ระดับโลก(Festival) อีกทั้งปีนี้วธ.มีวิสัยทัศน์ใหม่คือ“วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ มีบทบาทนำในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย”และปรับเปลี่ยนบทบาทสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ “วัฒนธรรมทำดี ทำงาน ทำเงิน” ส่งเสริมการต่อยอดวัฒนธรรมโดยนำคุณค่าของวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์สินค้าและบริการเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการทางวัฒนธรรมสู่ชุมชนและประเทศ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า วธ.ได้เตรียมดำเนินโครงการจัดทำและพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิปัญญาผ้าไทย โดยขณะนี้ได้จัดทำเว็บไซต์ที่มีคอนเทนต์ทันสมัยมีทั้งรูปภาพและวิดีโอประกอบคอนเทนต์ พร้อมระบบงานสารสนเทศเพื่อนำเข้าและจัดเก็บข้อมูลเพื่อเป็นฐานข้อมูลคลังผ้าไทยและการแต่งกายของชาติไทย ซึ่งเบื้องต้นได้กำหนดโครงสร้างหัวข้อเนื้อหาของฐานข้อมูลที่จะบรรจุไว้ในเว็บไซต์ อาทิ
พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในการอนุรักษ์และส่งเสริมการใช้ผ้าไทยและผ้าพื้นถิ่น, มาตรฐานผ้าไทยและตรานกยูงพระราชทาน ,ชุดไทยพระราชนิยมและเสื้อพระราชทาน , วิวัฒนาการผ้าไทย,ประเภทผ้าไทย , พิพิธภัณฑ์ผ้าไทยในประเทศไทย, ผ้าไทยแสดงถึงอัตลักษณ์ความโดดเด่นด้านวัฒนธรรมและมรดกภูมิปัญญาแต่ละจังหวัดเน้นเรื่องลายผ้าทั้ง 76 จังหวัด ,ผ้าไทยสู่สากล, ข้อมูลผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย(CPOT) และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในแต่ละจังหวัด ,ข้อมูลผู้ประกอบการ เป็นต้น โดยวธ.จะจัดทำเว็บไซต์ที่เป็นฐานข้อมูลคลังผ้าไทยฯให้แล้วเสร็จภายในปีนี้
นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า เว็บไซต์นี้จะเป็นฐานข้อมูลที่เป็นคลังความรู้ขนาดใหญ่ที่สุดในเรื่องผ้าไทยของประเทศ โดยเป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมผ้าไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ ภายในเว็บไซต์มีทั้งข้อมูลวิชาการ งานวิจัยและคลังความรู้จากผู้เชี่ยวชาญและนักออกแบบ ซึ่งได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลโดยการรับส่งข้อมูลใหญ่จากศูนย์ข้อมูลของกระทรวงวัฒนธรรม (M-culture Big Data)และรองรับการรับส่งข้อมูลกับแพลตฟอร์มเศรษฐกิจวัฒนธรรมใหม่เพื่อนำข้อมูลมาใช้งาน
และสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ชุมชนและผู้ประกอบการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้พัฒนาต่อยอด เพื่อส่งเสริมการใช้ทุนวัฒนธรรมในเรื่องผ้าไทยเป็นฐานสร้างรายได้ ให้แก่ชุมชนและประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ผ้าไทยสู่ระดับสากล ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของชาติที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)