ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงต่อเนื่อง และมาตรการผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลทำให้ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลทรายดิบ ยางพาราดิบชั้น 3 มันสำปะหลัง กุ้งขาวแวนนาไม สุกร และโคเนื้อ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนปาล์มน้ำมันราคาปรับตัวลดลง
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนพฤษภาคม 2565 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 8,546 -8,719 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.08 – 3.14 ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 11,904 -12,130 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.61 – 3.55 เนื่องจากภาวะความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ประเทศผู้นำเข้ามีความต้องการข้าวเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหารและใช้เป็นสินค้าทดแทน ข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนตัว ส่งผลให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้
ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 8,793 – 8,830 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.20 – 0.62 เนื่องจากข้าวเหนียวนาปรังออกสู่ตลาดลดลง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาอยู่ที่ 9.62 – 9.69 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.28 – 1.06 เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์ยังคงเพิ่มขึ้นจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่นมีราคาสูง น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคา 19.38 – 19.60 เซนต์/ปอนด์ (14.49 – 14.66 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.21 – 1.32 เนื่องจากแนวโน้มน้ำมันดิบที่สูงขึ้น ส่งผลดีต่อราคาเอทานอล ทำให้ผู้ประกอบการเพิ่มสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตเอทานอล
ประกอบกับการเริ่มเก็บเกี่ยวอ้อยบราซิลล่าช้าและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีน ส่งผลให้ประเทศจีนชะลอการนำเข้าน้ำตาลทรายและผลผลิตน้ำตาลทรายจากอินเดีย ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 62.27 – 63.34 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.61 – 2.34 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความกังวลต่อมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป ส่งผลให้ความต้องการยางธรรมชาติทดแทนยางสังเคราะห์เพิ่มขึ้นและนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า รวมถึงผลผลิตยางพาราในตลาดน้อย เพราะอยู่ในช่วงปิดกรีดยางและพบปัญหาโรคใบร่วงในแหล่งผลิตยางที่สำคัญของไทย
มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.40 – 2.50 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.84 – 5.04 เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ในขณะที่ความต้องการการใช้มันสำปะหลังในประเทศและส่งออกยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ทำให้ความต้องการใช้มันสำปะหลังเพิ่มขึ้น กุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 153.55 – 155.51 บาท/กก. ราคาเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.02 – 2.31 เนื่องจากภาวะต้นทุนอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรลดปริมาณการเลี้ยงกุ้งลง
ขณะที่ความต้องการส่งออกเพิ่มขึ้น และการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ส่งผลดีต่อการบริโภคกุ้งในประเทศ สุกร ราคาอยู่ที่ 93.43 – 95.83 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 4.11 – 6.78 เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงสุกร เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์และต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับปัญหาสภาพอากาศร้อนทำให้สุกรเจริญเติบโตช้า ผลผลิตเนื้อสุกรออกสู่ตลาดน้อย ส่งผลให้ราคาสุกรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และโคเนื้อ ราคา 100 – 105 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.32–5.34 เนื่องจากมาตรการผ่อนคลายการ เดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการเฉลิมฉลองเทศกาลฮารีรายออิดิ้ลฟิตรีหลังการถือศีลอดของชาวไทยมุสลิม ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อโคปรับตัวเพิ่มขึ้น
ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ราคา 9.63 – 9.75 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.11 – 2.33 เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากในช่วงไตรมาส 2 (เมษายน – มิถุนายน 2565) อยู่ที่ 5.75 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 32.73 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมดต่อปี นอกจากนี้ตามนโยบายรัฐมีการปรับสัดส่วนไบโอดีเซลจาก 7% เหลือ 5% ส่งผลให้สต็อกน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มสูงขึ้น