CPF มุ่งมั่นลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก หนุนโปรเจ็กต์พลังงานทดแทน-การจัดการของเสีย ขึ้นทะเบียน T-VER ของอบก.

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ สนับสนุนกลไกลดก๊าซเรือนกระจกขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) หรือ อบก. ชูโครงการพลังงานทดแทน และการจัดการของเสีย ขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) คาดลดก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 60,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เทียบเท่าการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ 6.5 ล้านต้น

นายพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สำนักวิศวกรรมกลาง ในฐานะประธานความมุ่งมั่นด้านการบริหารทรัพยากรที่เป็นเลิศ หนึ่งในกลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action เปิดเผยว่า ซีพีเอฟในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จึงได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การจัดการมูลสัตว์และน้ำเสีย และส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ไบโอดีเซล ก๊าซชีวภาพและพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

และได้ขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T- VER) กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรืออบก. คาดว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้มากกว่า 60,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (หรือเทียบเท่าการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ 6.5 ล้านต้น) โดย 59 % มาจากโครงการด้านการจัดการของเสีย และอีกมากกว่า 40 % มาจากโครงการด้านพลังงานทดแทน

สำหรับโครงการที่ขึ้นทะเบียนในโครงการ T-VER จำนวน 5 โครงการ ประกอบด้วย โครงการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ประเภทโครงการด้านพลังงานทดแทน กำลังการผลิตติดตั้งรวม 24 แห่ง โดยจะทําการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ บนหลังคาของโรงงานซีพีเอฟ ครอบคลุมโรงงานอาหารสัตว์บก โรงงานอาหารสัตว์น้ำ ฟาร์ม โรงงานแปรรูปอาหาร โรงงานอาหารสําเร็จรูป และศูนย์กระจายสินค้า ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ 11,092 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

โครงการบำบัดน้ำเสียฟาร์มสุกรด้วยระบบก๊าซชีวภาพ เพื่อใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าทดแทนจากระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ประเภทโครงการพลังงานทดแทนและการจัดการของเสีย ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ 41,100 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งฟาร์มสุกรของซีพีเอฟ เป็นต้นแบบที่มีการใช้ระบบกักเก็บก๊าซชีวภาพในฟาร์มสุกร ถือเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน และสามารถผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในฟาร์ม

นอกจากนี้ ยังมีโครงการผลิตไอน้ำจากก๊าซชีวภาพ ขนาด 5 ตัน ของโรงงานแปรรูปเนื้อไก่นครราชสีมา ประเภทโครงการพลังงานทดแทน ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ 5,626 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี โครงการ Biodiesel Production for Use as Fuel of Vehicle by CPF ประเภทโครงการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ดำเนินการโดยโรงงานแปรรูปเนื้อไก่และอาหารแปรรูปสระบุรี ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ 3,961 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และโครงการเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่างประสิทธิภาพสูง ของโรงงานอาหารสำเร็จรูปแปดริ้ว เป็นโครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน คาดว่าจะสามารถลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 41 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

ในปี 2564 ซีพีเอฟ ยังได้รับใบประกาศเกียรติคุณจากอบก. ภายใต้โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme : LESS) ประเภทโครงการด้านป่าไม้และการเกษตร จากโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง และพื้นที่สีเขียวในฟาร์มและโรงงาน และโครงการด้านพลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งรวมแล้วสามารถดูดซับและลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 22,255 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ทั้งนี้ T-VER เป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่อบก.พัฒนาขึ้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยโดยความสมัครใจ และสามารถนำปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น หรือคาร์บอนเครดิต ไปใช้ในการรายงานผลการดำเนินงาน แลกเปลี่ยน หรือ ซื้อขาย ภายในประเทศ โดยประเภทของโครงการที่สามารถเข้าร่วม T-VER ได้แก่ โครงการด้านการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน การพัฒนาพลังงานทดแทน การจัดการของเสีย การจัดการในภาคขนส่ง การปลูกป่า/ต้นไม้ การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า และการเกษตร ./