ชป.แจงจัดสรรน้ำต้นทุน เพื่อให้เกิดความมั่นคง และยั่งยืน ลดปัญหาขาดแคลนน้ำ

กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีการนำเสนอข่าว ทำได้เท่านี้เองจริงๆ กับการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นคำถามที่เกิดขึ้นทุกปี เพราะฤดูฝนน้ำเยอะเก็บไว้ไม่ได้ต้องปล่อยทิ้ง พอถึงหน้าแล้งก็ขาดน้ำเป็นปัญหาซ้ำซากอย่างนี้ทุกปี สิ่งที่เห็นวิธีการแก้ปัญหาของภาครัฐคือ ขอร้องชาวนาไม่ให้ปลูกข้าว ขอร้องชาวไร่ไม่ให้เพาะปลูก ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมไม่ให้เพาะปลูกแล้วจะให้ไปทำอะไรกิน นั้น

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2561/62  พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการวางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนจาก 4 เขื่อนหลัก ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทั้งยังทำการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองเข้ามาช่วย ในช่วงระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2562 โดยมีความต้องการใช้น้ำรวมปริมาณกว่า 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งในปัจจุบันได้ทำการระบายน้ำเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ ไปแล้วรวมปริมาณกว่า 7,509 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปริมาณการใช้น้ำมากกว่าแผนที่วางเอาไว้กว่า 766 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังจำนวนกว่า 5.85 ล้านไร่ ซึ่งมากกว่าแผนการเพาะปลูกจำนวนกว่า 0.55 ล้านไร่ ทั้งนี้ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรังทั้งประเทศแล้วกว่า 5.4 ล้านไร่ (ข้อมูลจากการรายงานประจำวันที่ 1 พ.ย. 61 – 10 เม.ย. 62) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาเก็บเกี่ยวแล้ว กว่า 4.53 ล้านไร่ และช่วงนี้เกษตรกรทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างต่อเนื่องทำให้ปริมาณการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ลดลงตามลำดับ โดยในเดือนมีนาคม 2562 ได้เริ่มทำการลดการส่งน้ำเพื่อการเกษตร ต่อมาในเดือนเมษายน 2562 จะเริ่มส่งน้ำโดยเน้นเพื่อการอุปโภค-บริโภคเป็นหลัก และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ยกเว้นพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน (ทุ่งบางระกำ) จะเริ่มทำการส่งน้ำเพื่อการเกษตรให้พื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 และจะไปสิ้นสุดก่อนเดือนกรกฎาคม 2562  เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับรองรับน้ำหลากจากอทุกภัยในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง

สำหรับพื้นที่การเกษตรภาคตะวันออกซึ่งทำการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ มักจะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม เป็นประจำทุกปี ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในพื้นที่มีปริมาณน้ำร้อยละ 50 ถึงร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ ซึ่งสามารถทำการจัดสรรน้ำได้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วนตลอดช่วงฤดูแล้ง ส่วนพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 9 ได้ทำการจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำ เข้าช่วยเหลือพื้นที่หากเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ สำหรับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้มีการวางแผนการพัฒนาเพื่อรองรับ EEC ในระยะ 10 ปี ในการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนอีกกว่า 354 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอสนับสนุนงบประมาณกว่า 2,615 ล้านบาท

ดร.ทวีศักดิ์ ยังกล่าวต่อว่า สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้อาจจะยาวนาน รวมถึงการเกิดปัญหาฝนทิ้งช่วง ถึงแม้ว่าปัจจุบันปริมาณน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลัก จะมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของทุกภาคส่วนตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ แต่จากข้อมูลการคาดการณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องทำการสำรองน้ำไว้ใช้ในอนาคต ลดความเสี่ยงการเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ทั้งนี้ กรมชลประทานจึงไว้วางมาตรการควบคุมการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่ 22 จังหวัด ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งที่อยู่ในเขตชลประทาน และนอกเขตชลประทานให้งดทำการเพาะปลูกข้าวนาปรังต่อเนื่อง (นาครั้งที่ 3 ) รวมทั้งขอให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด โดยการใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านน้ำอย่างยั่งยืน