กรมวิชาการเกษตร หนุนนโยบายรัฐบาลดันไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ จับมือภาคเอกชนร่วมตรวจรับรองสุขภาพเมล็ดพันธุ์ส่งออกปลอดศัตรูพืช ช่วยเพิ่มช่องทางรับบริการ ลดระยะเวลา ทันต่อสถานการณ์ เสริมสร้างขีดความสามารถการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย พร้อมยกระดับใบรับรองสุขอนามัยพืชไทยเข้าระบบดิจิทัล
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำโครงการรับรองห้องปฏิบัติการตรวจสุขภาพเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนด้านการตรวจสอบศัตรูพืชของเมล็ดพันธุ์เพื่อการส่งออก โดยให้ห้องปฏิบัติการภาคเอกชนที่ผ่านการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรสามารถดำเนินการตรวจศัตรูพืชเพื่อนำผลการตรวจมาใช้ประกอบการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชได้ ซึ่งช่วยเพิ่มช่องทางการให้บริการแก่ผู้ส่งออกภายใต้มาตรฐานและข้อกำหนดของกรมวิชาการเกษตร และช่วยลดระยะเวลาการตรวจสุขภาพของเมล็ดพันธุ์เพื่อการส่งออก เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างทันสถานการณ์ ซึ่งส่งผลให้สามารถบริหารจัดการการส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และส่งเสริมนโยบายการเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ (Seed Hub) ของประเทศไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจรับรองห้องปฏิบัติการภาคเอกชนจำนวน 4 แห่ง คาดว่าเมื่อผ่านการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรแล้วห้องปฏิบัติการทั้ง 4 แห่ง จะสามารถให้บริการแก่ผู้ส่งออกได้ประมาณเดือนมิถุนายน 2565
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรยังได้ออกแบบและพัฒนาการขอใบรับรองสุขอนามัยพืชแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Phyto) ซึ่งช่วยยกระดับใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate) ของไทยเข้าสู่ระบบดิจิทัล เป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าเมล็ดพันธุ์และการกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายเมล็ดพันธุ์ระหว่างประเทศ และเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบศัตรูพืชของไทย ที่มีความชัดเจน รวดเร็ว ทันสถานการณ์ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีการแข่งขันทางการค้าสูง ช่วยลดขั้นตอน ภาระงานและการผ่านพิธีการศุลกากรของสินค้าไทยทั้งที่ต้นทางและประเทศปลายทาง ส่งผลให้การค้าเมล็ดพันธุ์ของไทยมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมการผลิตและการส่งออกเมล็ดพันธุ์ของประเทศไทยภายใต้นโยบายศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมกับ สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย สมาคมเมล็ดพันธุ์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงาน Asian Seed Congress 2022 วันที่ 14–18 พฤศจิกายน 2565 เพื่อส่งเสริมการผลิตและการส่งออกเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูงของไทย เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทยในเวทีการค้าระหว่างประเทศ และประชาสัมพันธ์เผยแพร่ภาพลักษณ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการค้าเมล็ดพันธุ์ระดับโลก
โดยภายในงานมีกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การแสดงผลงานของประเทศไทยในการส่งเสริมการผลิตและส่งออกเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูงของไทย โดยกรมวิชาการเกษตร และสวทช. การแสดงสินค้าเมล็ดพันธุ์ของภาคเอกชนไทยและต่างประเทศ และการเจรจาการค้าเมล็ดพันธุ์ระหว่างคู่ค้า ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานจากอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ทั่วโลกมากกกว่า 500 ราย