กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีการนำเสนอข่าว “วิกฤตภัยแล้งปี 2536 ถ้าเกิดขึ้นอีกในลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรุงเทพ ฯ จะขาดน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาและการแก้ปัญหา” เนื่องจากปัจจุบันประสิทธิภาพการจัดการน้ำโดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำ ถ้าไม่ดำเนินการอะไรเลยและปล่อยให้เป็นเช่นนี้เรื่อง ๆ หากเกิดความแห้งแล้งเช่นปี พ.ศ.2536 ขึ้นมาอีก กรุงเทพ ฯ จะขาดน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา นั้น
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า บทบาทในการพัฒนาและจัดการน้ำของประเทศไทยเป็นระบบมากขึ้น นับตั้งแต่เริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2504 เป็นต้นมา ซึ่งการพัฒนาแหล่งน้ำในแต่ละแผนนั้น มีการปรับเปลี่ยนแนวทางและรูปแบบไปตามสถานการณ์และสภาวะแวดล้อม ที่เปลี่ยนแปลงไป การพัฒนาแหล่งน้ำที่ดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในระยะแรก นั้นได้มุ่งเน้นการก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ทั้งยังลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำภาคการเกษตร รวมถึงการใช้น้ำในภาคส่วนอื่น ๆ โดยยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาแหล่งน้ำได้มีการปรับเปลี่ยนตามสภาวะโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนจากด้านการเกษตรไปสู่ด้านอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ซึ่งทำให้มีปริมาณความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่แหล่งน้ำต้นทุนยังมีอยู่อย่างจำกัด จึงได้มีการปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาแหล่งน้ำตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา โดยเน้นเป้าหมายไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืน ซึ่งกรมชลประทานได้เน้นการใช้กลยุทธการบริหารแบบมีส่วนร่วม และการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาปรับใช้กับระบบส่งน้ำรวมถึงอาคารชลประทานต่าง ๆ ด้วยการพัฒนาระบบชลประทานสมัยใหม่ให้ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา พร้อมกับเริ่มพัฒนาระบบเก็บกักน้ำให้ดีขึ้น
สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประชุมและติดตามสถานการณ์น้ำในแต่ละสัปดาห์ เพื่อร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน สภาพทางอุตุ-อุทกวิทยา และสภาพพื้นที่เพาะปลูกจริงในปัจจุบัน จากภัยแล้งปี 2536 วันที่ 1 มกราคม 2537 เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำใช้การได้รวมกัน 2,043 ล้านลูกบาศก์เมตร การจัดสรรน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็มบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาและเพื่อการประปานครหลวงตามแผนประมาณวันละ 4.3 ล้านลูกบาศก์เมตร ในช่วงเดือนมกราคมได้ระบายน้ำเฉลี่ยประมาณวันละ 3.2 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้เพราะมีน้ำในพื้นที่นาระบายทิ้งออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ซึ่งสามารถใช้ในการผลิตน้ำประปาและผลักดันน้ำเค็มได้อย่างเพียงพอ ความเค็มของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานพุทธยอดฟ้า ฯ เริ่มสูงเกินเกณฑ์ควบคุม (2 กรัม/ลิตร) ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม จึงได้ปรับแผนการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเป็นวันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ไม่สามารถหยุดยั้งการรุกล้ำของน้ำเค็มได้ ความเค็มได้รุกล้ำถึงสถานีสูบน้ำของการประปานครหลวงที่สำแล จังหวัดปทุมธานี ประกอบกับในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนเนื่อง (Neap Tide) เนื่องจากปริมาณน้ำมีจำกัดไม่สามารถเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้ จึงได้ผันน้ำจากแม่น้ำท่าจีนผ่านคลองพระยาบันลือ และคลองพระพิมล มาลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้ประมาณวันละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2537 และหลังจากที่มีฝนเริ่มตกตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ทำให้มีน้ำจำนวนหนึ่งระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยามาเจือจางน้ำเค็ม น้ำเค็มไม่หนุนขึ้นสูงเช่นในช่วงต้นเดือนมีนาคมอีก และหยุดการผันน้ำตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2537 รวมเป็นปริมาณน้ำที่ผันทั้งสิ้นประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับความเค็มในแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำแม่กลองสามารถควบคุมความเค็มได้ตลอด
หลังจากปี 2536 กรมชลประทานได้ก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ซึ่งก่อสร้าง แล้วเสร็จและเก็บกักน้ำได้ในปี 2542 และปี 2552 ตามลำดับ ทำให้ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นเป็น 4 แห่ง ประกอบด้วยเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาประสบปัญหาน้ำต้นทุนน้อยในรอบ 20 ปี เมื่อปี 2558 ณ วันที่ 1 มกราคม 2558 มีปริมาตรน้ำใช้การได้ประมาณ 6,766 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นปริมาตรน้ำใช้การได้จากเขื่อนทั้งสองแห่ง(เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน)รวมกันประมาณ 1,388 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมาตรการในช่วงฤดูแล้งปีดังกล่าว ได้งดการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง โดยจะส่งน้ำเฉพาะเพื่อการอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ มุ่งเน้นการควบคุมคุณภาพน้ำและปริมาณน้ำ โดยเฉพาะการผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง มีการควบคุมการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน รวมทั้งการควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ร่วมกับการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก ในอัตราเฉลี่ยรวมวันละ 8.64 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าปี 2537 ในอัตราเฉลี่ยวันละ 4.34 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งในปัจจุบันก็ได้ดำเนินการตามมาตรการนี้ และจากสถิติในช่วงปี 2549 ถึงปี 2562 แม้ว่ามีเพียงช่วงสั้นๆ ประมาณ 6 ปี ที่ค่าความเค็มสูงเกินเกณฑ์วิกฤต แต่จากการประสานความร่วมมือกับการประปานครหลวงอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถรับมือให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ส่งผลให้สามารถจ่ายน้ำให้กับกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้เป็นอย่างดี ดังนั้น เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จึงมีส่วนสำคัญทำให้การผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง ที่สูบจ่ายให้กับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เกิดความมั่นคงยิ่งขึ้น ประกอบกับมีการก่อตั้งหน่วยงานใหม่ คือ สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่มีหน้าที่ประสาน ติดตาม กำกับ และบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้มีการศึกษา สำรวจ และออกแบบระบบชลประทานให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพทางภูมิศาสตร์ สภาพทางอุตุนิยมวิทยา สภาพทางอุทกวิทยา และสภาพทางสังคม ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการพัฒนามีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ต้นน้ำสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำในการใช้อุปโภค-บริโภค และการทำเกษตรกรรมตามความเหมาะสม เพื่อความเท่าเทียมกันของประชาชนในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ