คณาจารย์ มธ. พร้อมด้วยตัวแทนกลุ่มเส้นด้าย ร่วมสะท้อนปัญหาสุขภาพคนกรุงเทพฯ ทั้งเทรนด์โรค ภาวะสังคมสูงวัย ปัจจัยทางสังคมที่ต้องแก้ไขเพื่อลดปัญหาด้านสาธารณสุข พร้อมระบุโจทย์ท้าทายแก่ว่าที่ “ผู้ว่าฯ กทม.” คนต่อไป ให้ยกระดับบริการปฐมภูมิ บูรณาการความหลากหลายของหน่วยงานหลายสังกัด
เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ PPTV จัด “เวทีประชันวิสัยทัศน์ เลือกตั้งผู้ว่า แก้ปัญหาคนกรุง” ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “โรคระบาด เมืองระบม” โดยมีว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ พร้อมด้วยคณาจารย์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขของ มธ. รวมถึงตัวแทนจากกลุ่มเส้นด้าย มาร่วมสะท้อนปัญหาในมิติสุขภาพของคนเมือง และความคาดหวังต่อนโยบายในการแก้ปัญหาดังกล่าว ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มธ. เปิดเผยว่า ระบบบริการสุขภาพของ กทม. ควรมีการปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา โดยแบ่งตาม 2 สถานการณ์ คือในภาวะปกติ ระบบบริการสุขภาพต้องให้บริการรักษาความเจ็บป่วยมากมาย ซึ่งมีงานวิจัยที่ชี้ว่าคนเมืองมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคทางเดินหายใจ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงโรคในชุมชน อีกทั้งยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษา สิ่งเหล่านี้ขับเน้นให้คนมีความต้องการรับบริการทางสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ครอบคลุมผู้คนทุกกลุ่มจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ในส่วนของภาวะวิกฤต สถานการณ์โควิด-19 นับเป็นตัวอย่างที่ดีในการทดลองระบบสาธารณสุขของไทย แม้ที่ผ่านมาตามหน้าข่าวจะมีการกล่าวถึงระบบบริการสุขภาพของไทยว่ามีประสิทธิภาพที่ดี แต่ถึงอย่างไร
ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงมีปัญหาความโกลาหลที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน อาทิ ผู้ป่วยที่รอรับบริการนานจนเสียชีวิต ปัญหาการเข้าถึงโรงพยาบาล ระบบการส่งต่อ ฯลฯ
รศ.นพ.ดิลก กล่าวว่า นอกจากนี้ระบบบริการสุขภาพของ กทม. ยังมีลักษณะหลายสังกัด ทั้งของภาครัฐ เอกชน กทม. ไปจนถึงมหาวิทยาลัยต่างๆ จึงอาจทำให้เกิดการบูรณาการยากมากขึ้น ฉะนั้นหากระบบบริการสาธารณสุขสามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถแก้ปัญหาในภาวะวิกฤตได้ เพราะช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการต่างๆ เพื่อบูรณาการทำงานร่วมกัน และอาจจัดการกับสถานการณ์วิกฤตได้ หากแต่ในอนาคตยังคงต้องการการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม เพื่อรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างถาวร
รศ.นพ.ดิลก ยังกล่าวอีกว่า การเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ยังเป็นอีกปัญหาสำคัญด้านสุขภาพของประเทศ ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในปี 2564 ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงวัยที่อายุมากกว่า 60 ปีขี้นไป มากถึง 13 ล้านคน หรือเกือบ 20% โดยสำหรับ กทม. มีผู้สูงวัยกว่า 1 ล้านคน และมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
“สังคมสูงวัยจะส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้นด้วย เช่น กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อย่างโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดัน ซึ่งจากข้อมูลความชุกของโรคจะเพิ่มมากขึ้นในผู้สูงอายุ ดังนั้นทั้งหน่วยงานที่ให้บริการและประชาชนเองก็จะต้องรับภาระในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น จึงเกิดคำถามต่อว่า ผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไปจะมีนโยบายสำหรับรับมือปัญหาในมิตินี้อย่างไร” รศ.นพ.ดิลก กล่าว
รศ.ดร.สิริมา มงคลสัมฤทธิ์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะสาธารณสุขศาสตร์ มธ. กล่าวว่า คุณค่าของเมืองที่ผู้ว่าฯ กทม. ควรใส่ใจ คือสุขภาพที่ดีของประชาชน โดยสิ่งที่เรียกว่า “ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ” หรือ “Social Determinants of Health” เรื่องนี้เกี่ยวโยงกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ มลพิษ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่กำหนดให้เกิดปัญหาสุขภาพขึ้น ฉะนั้นภายใต้ระยะเวลาที่จำกัดของการบริหาร จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของผู้ว่าฯ กทม. ที่จะต้องจัดการให้รวดเร็วและเกิดความยั่งยืน
รศ.ดร.สิริมา กล่าวว่า นอกจากนี้ภาคประชาชนเองยังมีการเสนอถึงการป้องกันโรคระดับปฐมภูมิ (Primary Prevention) ที่เป็นเรื่องสำคัญในการจัดการกับสุขภาพของชาว กทม. เพื่อไม่ให้เกิดโรค ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค ลดความแออัด ตลอดจนเพิ่มการเข้าถึงบริการ ดังนั้นชุดนโยบายที่จะนำมาใช้จึงควรทำให้เกิดกลไกที่จะใส่ใจเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ซึ่งเป็นศูนย์รวมความหลากหลายของผู้คน จะต้องมีการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อรองรับการให้บริการด้านสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพแก่ทุกคน
ด้าน นายภูวกร ศรีเนียน ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเส้นด้าย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มเส้นด้ายได้ทำแคมเปญร่วมกับ Change.org เพื่อเป็นข้อเสนอต่อว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไป ในประเด็นระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ หรือ Primary Care กล่าวคือสถานบริการสาธารณสุขที่มีอยู่ รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) จะถูกยกระดับและทำให้เกิดขึ้นจริงได้มากน้อยเพียงใด เพราะช่วงที่ผ่านมาสะท้อนว่าหน่วยบริการปฐมภูมิสามารถรองรับการให้บริการได้น้อยกว่าความเป็นจริง และแสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบสาธารณสุข
“ก่อนเกิดโควิด-19 เราเชื่อมั่นกันมาก ว่าระบบสาธารณสุขของไทยมีความเข้มแข็งดี แต่ถ้าระบบสาธารณสุขเราเข้มแข็งจริงอย่างที่เชื่อมาโดยตลอด ความสูญเสียและความวุ่นวายในสถานการณ์ที่ผ่านมาคงจะน้อยกว่านี้” นายภูวกร ระบุ
ทั้งนี้ ปัญหาจากการทำงานของกลุ่มเส้นด้ายในช่วงโควิด-19 ที่พบเจอใน กทม. คือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากระบบสาธารณสุขจะเป็นประชาชนที่อยู่ในชุมชนแออัด ซึ่งมี 2 ประเภท คือ
1. ประเภทที่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
2. ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย
โดยประชาชนในกลุ่มที่สองนี้จะได้รับบริการทางสาธารณสุขทีหลัง หรืออาจไม่ได้รับเลย เช่น การฉีดวัคซีน การป้องกันยุงลาย ฯลฯ จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของคนในสองกลุ่ม ในขณะที่การตัดสินใจอยู่ที่ผู้บริหารของเขตต่างๆ
นายภูวกร กล่าวอีกว่า ส่วนช่วงโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว ที่เครื่องออกซิเจนมีความสำคัญมากกับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล จึงทำให้เกิดความขาดแคลน ทำให้มีบางเขตใน กทม. จำเป็นต้องมาขอยืมทางกลุ่มเส้นด้าย ซึ่งทางกลุ่มยินดีช่วยเหลือเพียงแต่ต้องการให้ทำหนังสือในการแจ้งความจำนงส่งมา แต่พบว่าผู้บริหารของเขตนั้นๆ บางเขตไม่สะดวกใจ ทำให้ประชาชนที่ต้องการก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือ สะท้อนให้เห็นปัญหาของการร่วมมือกันระหว่างหน่วยราชการ กับหน่วยงานภาคประชาสังคม ซึ่งควรที่จะต้องได้รับการแก้ไข