บรรยากาศในตลาดการเงินยังคงถูกกดดันโดยความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่กลับมาร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะยังคงสะสมสินทรัพย์ปลอดภัย โดยเฉพาะเงินดอลลาร์ และยังไม่กล้าเพิ่มการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง กดดันให้ ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ย่อตัวลงราว -0.14% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.02% อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจไม่ได้ปรับตัวลดลงรุนแรงมากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ว่าจะมีแนวโน้มดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์หรือไม่ เพราะแนวโน้มผลประกอบการที่ยังเติบโตได้ดีกว่าคาด อาจสามารถช่วยพยุงตลาดหุ้นในช่วงนี้ได้
ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดยังคงเดินหน้าทยอยลดการถือครองบอนด์ระยะยาวจากแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะการเร่งลดงบดุล (QT) ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 2.85% ทั้งนี้ ในระยะสั้นอาจต้องติดตามสถานการณ์สงครามที่อาจเข้ามากดดันบรรยากาศการลงทุนให้กลับสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยงได้ ซึ่งในภาพดังกล่าวการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด เพราะผู้เล่นบางส่วนอาจเลือกที่จะเข้ามาถือครองบอนด์ระยะยาวบ้างในช่วงที่ความเสี่ยงสงครามร้อนแรงขึ้น
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 100.8 จุด หนุนโดยความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความร้อนแรงของสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนและแรงหนุนจากแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดจะปิดรับความเสี่ยง แต่จะเห็นได้ว่า ผู้เล่นในตลาดกลับเลือกที่จะถือเงินดอลลาร์ เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย มากกว่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เนื่องจากส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ กับญี่ปุ่นนั้นยังคงเพิ่มขึ้น จากแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและเร่งลดงบดุลของเฟด ทำให้เงินเยน (JPY) อ่อนค่าต่อเนื่องสู่ระดับ 127 เยนต่อดอลลาร์
นอกจากนี้ ความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อหลบความผันผวนในตลาดการเงิน ยังช่วยหนุนให้ ราคาทองคำสามารถทรงตัวเหนือระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง ก่อนที่จะเผชิญแรงกดดันจากทั้งแรงขายทำกำไร รวมถึงการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงสู่ระดับ 1,980 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราประเมินว่า ราคาทองคำยังมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways ต่อ หนุนโดยความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย แต่หากตลาดไม่ได้ปิดรับความเสี่ยงรุนแรง ราคาทองคำก็อาจติดแนวต้านแถว 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะจับตาสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง หลังรัสเซียเดินหน้าบุกโจมตีพื้นที่ฝั่งตะวันออกและทางตอนใต้ของยูเครนหนักขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงกังวลว่าสถานการณ์สงครามอาจยืดเยื้อกว่าคาดและบรรดาประเทศฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะยุโรปอาจตัดสินใจใช้มาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียได้
ส่วนในด้านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดมองว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.50% ไปก่อน จนกว่าจะมั่นใจแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ แม้ว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) รวมถึง ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในสัปดาห์ก่อน
นอกจากนี้ ตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเราประเมินว่า หากผลกำไรยังเติบโตได้ดีกว่าคาดก็อาจพอช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนในตลาดช่วงนี้ได้ ทำให้ แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงรุนเร้า ตลาดหุ้นก็อาจจะไม่ได้ปรับฐานหนัก
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงผันผวนในกรอบ Sideways ต่อ โดยมีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ามาจากทิศทางของเงินดอลลาร์ที่ยังแข็งค่าขึ้นจากแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดและความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในระยะสั้น นอกจากนี้ ในสัปดาห์นี้จะมีโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลราว 4-5 พันล้านบาท ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินบาทได้ อนึ่ง เรามองว่า โฟลว์ขายทำกำไรราคาทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นแตะแนวต้านสำคัญก็อาจพอช่วยไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าไปมากได้ในช่วงนี้
นอกจากนี้ เราเริ่มเห็นผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงโซน 33.70-33.80 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้หากตลาดไม่ได้อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงไปมาก เงินบาทก็อาจไม่ได้เผชิญแรงกดดันจนอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ง่าย
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.65-33.80 บาท/ดอลลาร์
________________________________________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย