สธ.ย้ำ 3 มาตรการป้องกันแพร่ “โควิด” หลังสงกรานต์ ลดผู้ติดเชื้ออาการหนักและเสียชีวิต

กระทรวงสาธารณสุข เผย สถานการณ์โรคโควิด 19 ในไทย ผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลจากการติดเชื้อจำนวนมากก่อนสงกรานต์ ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อหลังเทศกาลสงกรานต์ต้องรอประเมินอีก 2 – 4 สัปดาห์ต่อจากนี้ ย้ำเข้ม 3 มาตรการช่วยป้องกันการติดเชื้อสู่กลุ่มเสี่ยง ลดจำนวนผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิต

วันที่18 เมษายน 2565 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด 19 และมาตรการหลังสงกรานต์ ว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ประเทศไทยขณะนี้ เริ่มพบสัดส่วนผู้ติดเชื้อทั้งจากการตรวจด้วยวิธี RT-PCR และ ATK ลดลง ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบมีจำนวน 2,123 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 939 ราย ยังต่ำกว่าช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตา แต่แนวโน้มผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิต มีเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการติดเชื้อจำนวนมากประมาณ 2-3 สัปดาห์ก่อนสงกรานต์

ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป มีโรคเรื้อรังประจำตัว ฉีดวัคซีนไม่ครบ 3 เข็ม แม้ช่วงสงกรานต์จะมีการรณรงค์ให้นำผู้สูงอายุมารับวัคซีนที่ รพ.สต.จำนวนมาก แต่ความครอบคลุมเข็ม 3 ถือว่ายังน้อย ประมาณ 39.4% ดังนั้น หลังสงกรานต์จึงยังต้องรณรงค์อย่างต่อเนื่องให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้ 80% ส่วนเด็กนักเรียนต้องเร่งฉีดช่วงก่อนเปิดเทอมหรือเริ่มเปิดเทอม ขณะที่บุคคลทั่วไปหากรับเข็ม 2 ครบ 3 เดือน ให้มารับเข็ม 3 และหากรับเข็ม 3 ครบ 4 เดือนแล้ว ให้มารับเข็ม 4 เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน

นพ.จักรรัฐกล่าวว่า หลังเทศกาลสงกรานต์ที่มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมและเดินทางไปทั่วประเทศ ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอีก 2-4 สัปดาห์ เพราะจะมีโอกาสเกิดคลัสเตอร์ต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิต ยังคงเป็นไปตามคาดการณ์ ซึ่งหากมีการป้องกันควบคุมที่ดี หลังสงกรานต์มีผู้ติดเชื้อลดลง การแพร่ไปสู่กลุ่ม 607 จะลดลงตามไปด้วย และผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตจะลดลงในช่วงถัดไป จึงยังต้องเฝ้าระวังกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นหลังสงกรานต์ รวมถึงการรวมกลุ่มที่อาจเกิดการระบาดเป็นคลัสเตอร์ เช่น ค่ายทหาร โรงเรียน การติวพิเศษ การเข้าแคมป์ต่างๆ ทั้งนี้ แนะนำการป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังกลุ่มเสี่ยงสูง 3 มาตรการ คือ

1.หลังเดินทางกลับจากสงกรานต์หรือรวมกลุ่มทำกิจกรรม ให้สังเกตอาการตนเอง 5 – 7 วัน หากมีอาการป่วย เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก การรับรสและกลิ่นไม่ดี ให้ตรวจ ATK

2.หลีกเลี่ยงการพบกับคนจำนวนมาก หากต้องพบผู้อื่นให้สวมหน้ากากตลอดเวลาเพื่อลดความเสี่ยง เลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน

3.ทำงานที่บ้าน (Work From Home) 5-7 วัน ร่วมกับการดูแลตนเองให้ปลอดจากการติดเชื้อ

และมาตรการ 2U คือ Universal Prevention ป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา และ Universal Vaccination ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม จะช่วยให้หลังสงกรานต์ปลอดภัย ไม่มีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยปอดอักเสบเพิ่มขึ้น

************************************** 18 เมษายน 2565