วธ.ร่วมกับศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ จัดกิจกรรมประเพณีวันสงกรานต์ ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทย สงกรานต์วิถีใหม่

วธ.ร่วมกับศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ จัดกิจกรรมประเพณีวันสงกรานต์ ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทย สงกรานต์วิถีใหม่ รับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม” เชิญชวนสรงน้ำพระพุทธรูปประจำวันเกิด สักการะพระพุทธรูปโบราณ 10 องค์ สวดมนต์ขอพร เสริมสิริมงคล

วันที่ 12 เมษายน 2565 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมสืบสานประเพณีวันสงกรานต์ ประจำปีพุทธศักราช 2565 ภายใต้แนวคิด “ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทย สงกรานต์วิถีใหม่ รับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม” พร้อมสักการะพระประธานและสรงน้ำพระพุทธรูปประจำวันเกิด สักการะและชมพระพุทธรูปมงคลโบราณศิลปะสมัยล้านนา อยุธยาและรัตนโกสินทร์ 10 องค์ เยี่ยมชมการสาธิตทำน้ำอบไทย น้ำปรุงและร้อยพวงมาลัย โดยมีนางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวอารยา จิตตโรภาส ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าร่วม ณ ฮอลล์ ออฟ เฟม ชั้น M ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ

นายอิทธิพล กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายสืบสาน รักษาและต่อยอดงานศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างยั่งยืน ดังนั้น วธ.ได้จัดงานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2565 ภายใต้แนวคิด “ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทย สงกรานต์วิถีใหม่ รับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม” ขอความร่วมมือหน่วยงานรัฐ เอกชน วัดและประชาชนจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์แบบวิถีใหม่ (New Normal) เน้นเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี การท่องเที่ยวและสุขภาพ สืบสานประเพณีสงกรานต์ตามขนบธรรมเนียมที่ดีงาม และดำเนินกิจกรรมสงกรานต์ให้สอดคล้องกับแนวทางมาตรการเทศกาลสงกรานต์ 2565 ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และมาตรการความปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า วธ.ร่วมกับศูนย์การค้าสยามพารากอน จัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ภายใต้แนวคิด “ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทย สงกรานต์วิถีใหม่ รับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม” วันที่ 12-17 เมษายน 2565 มีกิจกรรมสรงน้ำพระพุทธรูป พระพุทธรูปประจำวันเกิด และจัดแสดงพระพุทธรูปมงคลโบราณศิลปะสมัยล้านนา อยุธยาและรัตนโกสินทร์ 10 องค์ ได้แก่ พระพุทธสิหิงค์จำลอง,พระพุทธรูปสมาธิใต้ร่มโพธิ์เหนือมารผจญ , พระชัยเมืองนครราชสีมา, พระอมิตายุส, พระพุทธรูปแก้วมารวิชัย, พระพุทธรูปห้ามสมุทร, พระพุทธรูปทรงเครื่องห้ามญาติ (ปางประทานอภัย), พระพุทธรูปห้ามแก่นจันทน์, พระพุทธรูปป่าเลไลย์ และพระพุทธรูปปางโปรดมหิสสรเทพบุตร ให้ประชาชนได้สักการะ สวดมนต์ขอพรเพื่อเสริมสิริมงคล ให้สุขสมหวัง ปลอดโรคภัย มีสุขภาพแข็งแรงและชีวิตยืนยาว

นอกจากนี้ มีการสาธิตการทำน้ำอบไทย น้ำปรุงและร้อยพวงมาลัย ทั้งนี้ วธ.ขอเชิญชวนประชาชนแต่งกายชุดสุภาพด้วยผ้าไทย ผ้าพื้นเมืองหรือชุดไทยย้อนยุค เข้าร่วมกิจกรรมสงกรานต์ เพื่อร่วมสืบสานคุณค่าและสาระอันดีงามของประเพณีสงกรานต์ เช่น การทำความสะอาดบ้านเรือน วัด ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป ฟังเทศน์ รดน้ำดำหัวขอพรผู้สูงอายุ

นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า ส่วนการจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ให้สอดคล้องกับมาตรการผ่อนปรนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขอความร่วมมือหน่วยงานรัฐ เอกชน วัดจัดกิจกรรมในพื้นที่โล่ง และควบคุมไม่ให้แออัดในพื้นที่จัดงานไม่เกิน 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร มีจุดล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจล/สเปรย์แอลกอฮอล์ ซึ่งกิจกรรมที่จัดได้ตามมาตรการผ่อนปรน อาทิ การเล่นน้ำตามประเพณีสงกรานต์ในพื้นที่จัดงานที่มีการควบคุม การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น

ส่วนกิจกรรมที่ให้งด ได้แก่ การเล่นสาดน้ำในที่สาธารณะ เช่น บนท้องถนน การประแป้ง ปาร์ตี้โฟมหรือกิจกรรมที่สัมผัสใกล้ชิด รวมทั้งงดจำหน่ายและ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งในสถานที่จัดงานและสถานที่สาธารณะ ส่วนกิจกรรมทางศาสนา ได้แก่ ทำบุญที่วัด สรงน้ำพระพุทธรูป ขนทรายเข้าวัด พระสงฆ์ บุคลากรในวัดและประชาชนที่ไปทำบุญต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์และปฏิบัติตาม “COVID Free Setting (CFS)” และมาตรการของสธ.อย่างเคร่งครัด