บอร์ดกวช.ชุดใหม่ไฟเขียวตั้งอนุกก.ส่งเสริม สืบสานอัตลักษณ์ความเป็นไทยด้วยภาษาไทย และรับทราบผลหารือวธ.กับกลุ่มเครือข่ายศิลปินฯเตรียมเสนอจัดตั้งสภาศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติ
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในฐานะรองประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) ครั้งที่ 3/2565 โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ชั้น 8 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์และระบบประชุมทางไกลออนไลน์(Zoom Meeting)
โดยที่ประชุมรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ลงนามโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 อาศัยอำนาจตามมาตรา 6 แห่งพ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2553 เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯชุดเดิมที่มีทั้งหมด 9 คน ครบวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปีแล้ว ซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯชุดใหม่ประกอบด้วยนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล นางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย นายปัญญา วิจินธนสาร พลอากาศเอกวีรวิท คงศักดิ์ นางฐะปาณีย์ อาจารวงศ์ รองศาสตราจารย์ปิติ ศรีแสงนาม นางนฤมล ล้อมทองและนายเสริมคุณ คุณาวงศ์
นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบผลหารือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)กับกลุ่มเครือข่ายศิลปินและเครือข่ายคนบันเทิงที่เสนอให้จัดตั้งสภาศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติโดยเสนอร่างพ.ร.บ.สมัชชาศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. …. ซึ่งการเสนอจัดตั้งสภาศิลปะฯดังกล่าวมีเจตนารมณ์สอดคล้องกับร่างพ.ร.บ.สภาศิลปินแห่งประเทศไทย พ.ศ. ….โดยร่างกฎหมายดังกล่าวเคยมีผู้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี พ.ศ. 2563 ทั้งนี้ วธ.ได้รับข้อเสนอจัดตั้งสภาศิลปะฯไว้ เพื่อประโยชน์ในการจัดทำฐานข้อมูลสมาชิกและสมาคมศิลปินแขนงต่างๆนำมาใช้ในการประสานงาน สนับสนุนหรือช่วยเหลือศิลปินแขนงต่างๆ พร้อมกันนี้วธ.ขอให้กลุ่มเครือข่ายศิลปินและเครือข่ายคนบันเทิงไปหารือกับผู้เสนอร่างพ.ร.บ.สภาศิลปินแห่งประเทศไทย พ.ศ. …. เพื่อให้เนื้อหาร่างกฎหมายมีความเป็นเอกภาพและมีเจตนารมณ์สอดคล้องกับความต้องการของศิลปินอย่างแท้จริง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริม สืบสานและธำรงรักษาอัตลักษณ์ความเป็นไทยด้วยภาษาไทย เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีผลดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน เพื่อให้เป็นไปตามมติครม.เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2542 ที่ได้เห็นชอบให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เพื่อให้คนไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันทำนุบำรุง ส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทยให้อยู่คู่กับชาติไทยตลอดไป
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯมีรมว.วธ.เป็นประธานอนุกรรมการฯและอนุกรรมการฯประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ ราชบัณฑิตยสภา สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ เป็นต้น และผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาไทย มีหน้าที่และอำนาจ เช่น กำหนดแนวทางและนโยบาย กระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทยและภาษาถิ่นซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชาติ กำหนดนโยบาย แผนและมาตรการในการธำรงรักษา ส่งเสริม สืบสานและสืบทอดภาษาไทยและภาษาถิ่น รวมถึงกำหนดแผนงานเพื่อความร่วมมือในการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐ เอกชนในการทำนุบำรุง ส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทยและภาษาถิ่น เป็นต้น