กระทรวงสาธารณสุข เปิดตัวแพลตฟอร์มหวานน้อยสั่งได้ โดยตั้งเป้าหมายมีร้านหวานน้อยสั่งได้ในแพลตฟอร์มฯ จำนวน 2,400 ร้าน ครอบคลุมทุกจังหวัด
วันที่ 8 เมษายน 2565 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดตัวแพลตฟอร์มหวานน้อยสั่งได้ ณ บริเวณโถงอาคาร 1 ชั้น 1 กรมอนามัย ว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายหวานน้อยสั่งได้มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 โดยได้รับความร่วมมือ จากเครือข่ายภาครัฐ และองค์กรด้านสุขภาพ ได้แก่ องค์การอนามัยโลก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายคนไทยไร้พุง เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน รวมทั้งภาคเอกชน ซึ่งเป็นธุรกิจร้านกาแฟ ร้านอาหาร และเครื่องดื่ม และห้างสรรพสินค้าที่มีสาขาทั่วประเทศร่วมเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินงาน ได้แก่ คาเฟ่อเมซอน อินทนิล ออลล์คาเฟ่ คัดสรร เบลลินี่ กาแฟมวลชน จังเกิล อราบิเทีย ทรูคอฟฟี่ ดอยช้างคอฟฟี่ แบล็กแคนยอน ชาตรามือ ชาพะยอม เซ็นทรัลฟู้ด เดอะมอลล์กรุ๊ป บิ๊กซี และโลตัส โดยผลการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวในปี 2564 พบว่า คนไทยสั่งเครื่องดื่มหวานน้อยเพิ่มขึ้น จากปี 2563 ถึงร้อยละ 51.7
“สำหรับในปี 2565 กระทรวงสาธารณสุข ได้ขับเคลื่อนนโยบายหวานน้อยสั่งได้ ผ่านแพลตฟอร์ม หวานน้อยสั่งได้ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลร้านหวานน้อยสั่งได้ ทั่วประเทศ โดยร้านค้าที่มีสูตรเครื่องดื่มหวานน้อย สามารถบันทึกที่ตั้งของร้านในแพลตฟอร์ม และปักหมุดพิกัดแนะนำเส้นทางบนแผนที่ออนไลน์ ทำให้ประชาชนมีช่องทางในการเข้าถึงร้านหวานน้อยสั่งได้ใกล้ตัว สามารถเข้าถึงเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ และเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมาย ให้มีร้านหวานน้อยสั่งได้ในแพลตฟอร์มฯ จำนวน 2,400 ร้าน ครอบคลุมทุกจังหวัด ซึ่งคาดว่าหลังจากเปิดตัวแพลตฟอร์ม ประชาชนจะมีการสั่งเครื่องดื่มหวานน้อยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60 โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวต่างจังหวัด หากต้องการซื้อเครื่องดื่มเพื่อบรรเทาอาการง่วงระหว่างการเดินทาง หรือสร้างความสดชื่นการดื่มเครื่องดื่มหวานน้อยถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพื่อสุขภาพที่ดี” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในปี 2565 นี้จะดำเนินการยกระดับจาก “หวานน้อยสั่งได้” ตามสูตรของแต่ละแบรนด์ เป็น “หวานน้อยร้อยละ 5” คือมีความหวานเป็นมาตรฐานเดียวกันที่ไม่เกินร้อยละ 5 โดยมีอัตราส่วนน้ำตาลหรือน้ำเชื่อม 5 กรัม ต่อน้ำ 100 มิลลิลิตร ทั้งนี้ กรมอนามัย โดยสำนักโภชนาการได้มีการพัฒนาสูตรเครื่องดื่มหวานน้อยร้อยละ 5 ได้แก่ ลาเต้เย็น และชาเขียวเย็น พร้อมทดสอบการยอมรับเบื้องต้นกับกลุ่มตัวอย่างจำนวนกว่า 400 คน ระหว่างวันที่ 21 – 25 มีนาคม 2565 พบว่า คะแนนความชอบระดับปานกลาง ถึงชอบมากที่สุดของลาเต้หวานน้อยร้อยละ 5 เท่ากับร้อยละ 77 ส่วนชาเขียวหวานน้อยร้อยละ 5 เท่า กับร้อยละ 70 ตามลำดับ ซึ่งการส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยสามารถเข้าถึงอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพได้ อันจะช่วยลดการเกิดโรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ได้อีกทางหนึ่ง และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้อย่างยั่งยืน
กรมอนามัย / 8 เมษายน 2565