กระทรวงสาธารณสุข ส่งเสริมให้มีนักบริบาลสุขา ดูแลส้วมวัดให้สะอาดช่วงสงกรานต์ หลังพบผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ส้วมสาธารณะไทยด้วยเกณฑ์ 3 ด้าน คือ สะอาด (Health) เพียงพอ (Accessibility) และปลอดภัย (Safety) เพียงร้อยละ 45.14 กระตุ้นล้างส้วมวัดให้สะอาดทั่วไทย มั่นใจไร้โควิด-19
วันที่ 7 เมษายน 2565 นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานแถลงข่าว “สงกรานต์ทำบุญปลอดภัย ส้วมวัดสะอาดทั่วไทย มั่นใจไร้โควิด-19” ณ ห้องประชุมสมบูรณ์ วัชโรทัย อาคาร 1 ชั้น 2 กรมอนามัย ว่า การพัฒนาส้วมวัดให้ได้มาตรฐานส้วมสาธารณะ มีความสำคัญ และจำเป็นในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค สร้างสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชน ซึ่งการพัฒนาห้องส้วมวัดนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้การดำเนินงาน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีการประกาศนโยบายการดำเนินงานพัฒนาส้วมวัด โดยกำหนดเป้าหมายไว้ดังนี้
1) กำหนดเป้าหมายการการพัฒนาส้วมวัดได้มาตรฐานตามเกณฑ์มาตรฐาน ส้วมสาธารณะไทย ร้อยละ 70 ขึ้นไป
2) สนับสนุนให้วัดทั่วประเทศมีการพัฒนา ปรับปรุงส้วมให้สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย ตามเกณฑ์มาตรฐานส้วมสาธารณะไทย (Health Accessibility and Safety : HAS) และส่งเสริม ให้มีผู้รับผิดชอบ ดูแลทำความสะอาดส้วมวัด หรือนักบริบาลสุขา เพื่อช่วยดูแลทำความสะอาดส้วมวัด
3) ให้ศูนย์อนามัย และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด คัดเลือกวัดที่มีการจัดการส้วมดีเด่น อย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาส้วมสาธารณะในวัด
“ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนและพุทธศาสนิกชนร่วมกันเป็นนักบริบาลสุขา โดยช่วยกันดูแลและทำความสะอาดส้วมวัดหลังการใช้งาน เน้นจุดเสี่ยงบริเวณสัมผัสร่วม ได้แก่ ที่รองนั่งโถส้วม ที่จับสายฉีดชำระ ก๊อกน้ำที่อ่างล้างมือ กลอนหรือลูกบิดประตู ที่กดโถส้วม ที่กดโถปัสสาวะและเลือกใช้ น้ำยาทำความสะอาดและฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ประชาชนผู้ใช้บริการส้วมวัด ควรมีพฤติกรรม การใช้ส้วมสาธารณะที่ถูกต้อง อาทิ รักษาระยะห่างระหว่างรอใช้ส้วมสาธารณะ 1 – 2 เมตร ปิดฝาโถส้วม ก่อนกดชักโครก ล้างมือด้วยสบู่และน้ำทุกครั้งหลังใช้ส้วม เพื่อให้ไม่เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค พร้อมส่งต่อส้วมสะอาด ให้แก่ผู้ใช้งานรายต่อไป” ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผลการประเมินตามเกณฑ์มาตรฐานส้วมสาธารณะไทยด้วยเกณฑ์ 3 ด้าน คือ สะอาด (Health) เพียงพอ (Accessibility) และปลอดภัย (Safety) พบว่า ส้วมวัดผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพียงร้อยละ 45.14 และจากข้อมูลการสำรวจของกรมอนามัยพบส้วมวัดมีปัญหาด้านความสะอาดมากที่สุด โดยผลการสุ่มตรวจการปนเปื้อนบริเวณจุดสัมผัสต่าง ๆ ภายในห้องส้วม พบว่า บริเวณที่มีความสกปรกและพบการปนเปื้อนของเชื้อโรคมากที่สุด คือ ที่รองนั่ง ร้อยละ 37 ที่จับสายฉีดชำระ ร้อยละ 33 และก๊อกน้ำ ร้อยละ 21
ดังนั้น ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวกลับภูมิลำเนา มีการร่วมกิจกรรมต่างๆ ในวัด จำเป็นต้องมีการพัฒนาและดำเนินการปรับปรุงห้องส้วมวัดให้ได้มาตรฐานส้วมสาธารณะ รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการห้องส้วมมีพฤติกรรม การใช้ส้วมที่ถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงส้วมสะอาด เพียงพอ ปลอดภัย สร้างสุขอนามัยที่ดี ลดเสี่ยงโควิด-19
***
กรมอนามัย / 7 เมษายน 2565