กรม สบส.สนธิกำลังตำรวจ บุกรวบหมอเถื่อนคาคลินิกย่านศรีวรา สั่งฟันโทษไม่เว้นทั้งหมอและคลินิก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สนธิกำลังตำรวจบุกรวบหมอเถื่อน แอบอ้างเป็นแพทย์เกียรตินิยม มาลักลอบให้บริการเสริมความงามในคลินิกย่านศรีวรา สั่งฟันโทษทั้งตัวหมอ และสั่งปิดคลินิก 30 วันทันที

วันที่ 7 เมษายน 2565 ณ กองบังคับการปราบปราม นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่ กรม สบส.ได้รับการประสานจากกองกำกับการ 4  กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ว่าพบเบาะแสบุคคลแอบอ้างเป็นแพทย์ มาให้บริการเสริมความงาม เช่น การฉีดฟิลเลอร์ หรือโบท็อกซ์ ในคลินิกแห่งหนึ่งย่านศรีวรา แขวงพลับพลา  เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ

ซึ่งเป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ร่างกายของประชาชน ถึงขั้นพิการ หรือเสียชีวิตได้ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรม สบส. จึงได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีข้างต้นโดยทันที ซึ่งจากการตรวจสอบสื่อออนไลน์ของทางคลินิกที่ถูกกล่าวอ้าง พบการโฆษณาถึงแพทย์ผู้ให้บริการ ชื่อ นพ.ธนากรฯ (ขอสงวนนามสกุล) จึงตรวจสอบข้อมูลไปยังแพทยสภาว่าบุคคลดังกล่าวเป็นแพทย์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งได้รับข้อมูลกลับมาว่าไม่มีรายชื่อของ นพ.ธนากรฯ แต่อย่างใด

จึงตั้งข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าบุคคลดังกล่าวนั้นเป็นหมอเถื่อน พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงสนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ตรวจสอบคลินิกดังกล่าว โดยพบนายธนากรฯ กำลังให้บริการรักษาประชาชนอยู่ภายในคลินิก เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเข้าควบคุมตัวและสอบถามข้อเท็จจริง โดยนายธนากรฯให้การยอมรับว่าตนแอบอ้างเป็นแพทย์ ซึ่งได้รับปริญญาเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยรัฐชื่อดัง เพื่อให้บริการเสริมความงาม ณ คลินิกดังกล่าวจริง จึงได้ตั้งข้อหากับผู้กระทำผิดในเบื้องต้น 3 ข้อหา ได้แก่

1.นำเข้าข้อมูลที่บิดเบือน หรือปลอมสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หรือนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยก่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชน

2.ใช้คำว่าแพทย์ นายแพทย์ ประกอบกับชื่อนามสกุลของตน เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าตนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

3.ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต (หมอเถื่อน)

นอกจากนี้ ในส่วนของคลินิกที่รับหมอเถื่อนรายนี้มาให้บริการ กรม สบส. ก็ได้มีคำสั่งทางปกครองให้ปิดสถานพยาบาลเป็นการชั่วคราว 30 วัน เพื่อปรับปรุงมาตรฐานให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมแจ้งข้อหาการกระทำผิดกฎหมายพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 กับแพทย์ผู้ดำเนินการประจำคลินิก ในฐานปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่นที่มิใช่แพทย์มาให้บริการในสถานพยาบาล อีกทั้งจะมีการขยายผลตรวจสอบถึงโฆษณาของคลินิกว่ามีการขออนุมัติ หรือมีเนื้อหาที่เป็นเท็จ หรือโอ้อวดเกินจริงหรือไม่ หากพบการกระทำผิดก็จะมีการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวต่อว่า กรม สบส. ขอเน้นย้ำให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็น รพ.เอกชน หรือคลินิก ต้องเข้มงวดในการคัดกรองบุคลากรที่จะมาให้บริการ ในกรณีที่พบว่าสถานพยาบาลมีการให้บุคคลที่มิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพมาให้บริการในสถานพยาบาล นอกจากจะมีบทลงโทษกับตัวผู้กระทำผิดแล้ว ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลเองก็จะต้องถูกลงโทษตามกฎหมายด้วย จะมาอ้างว่าไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้ เพราะบริการทุกประเภทของสถานพยาบาลนั้นย่อมเกี่ยวพันกับสุขภาพ และชีวิตของผู้รับบริการ จึงต้องตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพ