กรม อ. ชวนหญิงไทยอายุ 20 ปีขึ้นไป ตรวจเต้านมเป็นประจำ ชี้ พบก้อนเนื้อมะเร็งเร็ว อัตรารอดสูง

​กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชวนหญิงไทยอายุ 20 ปีขึ้นไป ตรวจเต้านมเป็นประจำทุกเดือน ชี้ พบก้อนเนื้อ มะเร็งเร็ว มีโอกาสรอดร้อยละ 75 – 90 พร้อมแนะออกกำลังกาย เพิ่มกินผัก ผลไม้ ลดอาหารที่มีไขมัน และควบคุมน้ำหนัก จะช่วยป้องกันมะเร็งเต้านมได้อีกทางหนึ่ง

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า โรคมะเร็งเต้านมพบมากเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งในผู้หญิงไทย ซึ่งจากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ระบุว่า มีผู้ป่วยเฉลี่ยรายใหม่ 18,000 คนต่อปี หรือ 49 คนต่อวัน มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมราว 4,800 คน หรือคิดเป็น 13 คนต่อวัน ซึ่งกลุ่มเสี่ยงมะเร็งเต้านม ส่วนใหญ่จะพบในหญิงที่มีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือมีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน หรือเคยมีก้อนบริเวณเต้านม ที่ผลการตรวจพบว่าผิดปกติ มีประจำเดือนครั้งแรก ก่อนอายุ 12 ปี หมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี หรือเคยรับการฉายรังสีบริเวณทรวงอกก่อนอายุ 30 ปี และผู้หญิงที่สูบบุหรี่จัด ดื่มสุรา ไม่ออกกำลังกาย โดยพบว่าผู้หญิงอายุ 15 – 49 ปี ที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น10 กิโลกรัม จะมีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ในขณะที่ผู้ชายก็มีสิทธิ์เป็นมะเร็งเต้านมได้ 1 ใน 100 ของผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การป้องกันที่ดีที่สุด คือ ผู้หญิงที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปทุกคน ควรตรวจเต้านม เป็นประจำทุกเดือน ซึ่งจะทำให้รู้ถึงสภาพที่เป็นปกติของเต้านม หากเกิดความผิดปกติของเต้านมจะสามารถพบได้ ตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยการตรวจเต้านมทำได้ 2 วิธี คือ

วิธีที่ 1 ดูด้วยตา คลำด้วยมือ ซึ่งการคลำมี 3 แบบ จะเลือกใช้แบบใดก็ได้ แต่ต้องให้มั่นใจว่าครอบคลุมเนื้อเยื่อเต้านมทั้งหมด ทั้งขอบด้านล่างเสื้อชั้นใน บริเวณหัวนม บริเวณใต้รักแร้ และไหปลาร้า อย่ายกนิ้วขึ้นจากเต้านมขณะคลำ

แบบที่ 1 การคลำในแนวขึ้นลง จากบริเวณกระดูกไหปลาร้าจนถึงด้านล่างของทรวงอก โดยคลำจากใต้รักแร้ หรือตำแหน่งใต้แขนจนถึงฐานของเต้านม แล้วขยับนิ้วทั้งสามคลำในแนวขึ้นลง และสลับกันไปเรื่อย ๆ ให้ทั่วทั้งเต้านม

แบบที่ 2 การคลำแบบแนวก้นหอย เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมบริเวณลานหัวนมไปตามแนวก้นหอย จนกระทั่งถึงฐานเต้านม ครอบคลุมถึงบริเวณรักแร้ และไหปลาร้า

แบบที่ 3 การคลำแบบแนวรูปลิ่ม เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมบริเวณลานหัวนมจนถึงฐานแล้วกลับขึ้นสู่ยอด อย่างนี้เรื่อย ๆ ให้ทั่วทั้งเต้านม ครอบคลุมถึงบริเวณรักแร้ และไหปลาร้า

นอกจากนี้ ควรคลำเต้านมให้ได้ 3 ระดับ ดังนี้ กดเบา ให้รู้สึกถึงบริเวณใต้ผิวหนัง กดปานปลาง ให้รู้สึกถึงบริเวณกึ่งกลางเนื้อนม และกดหนัก ให้รู้สึกถึงเนื้อนมใกล้กระดูกอก เมื่อคลำพบก้อนที่โตระยะขนาด 2 – 5 เซนติเมตร อัตราการรอดชีวิตมีถึงร้อยละ 75 – 90 แต่หากคลำพบก้อนขนาด 5 เซนติเมตรขึ้นไป อัตราการรอดมีเพียงร้อยละ 15 – 30 เท่านั้น

“วิธีที่ 2 การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) สามารถพบก้อนได้ตั้งแต่ขนาด 2 – 3 มิลลิเมตรขึ้นไป ซึ่งจากข้อมูลของมูลนิธิถันยรักษ์ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พบว่า ระยะเริ่มต้น เป็นระยะที่มะเร็ง ยังไม่ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อของเต้านม มีอัตรารอดชีพ ร้อยละ 100 ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อของเต้านม มีอัตรารอดชีพ ร้อยละ 100 ขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร มีอัตรารอดชีพ ร้อยละ 98 ขนาดระหว่าง 2 – 5 เซนติเมตร มีอัตรารอดชีพ ร้อยละ 88 ขนาดใหญ่มากกว่า 5 เซนติเมตร มีอัตรารอดชีพ ร้อยละ 52 และ ระยะแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น มีอัตรารอดชีพร้อยละ 16 ประชาชนจึงควรหมั่นตรวจเช็คร่างกายตนเอง และพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งออกกำลังกาย เป็นประจำ กินผักและผลไม้ให้มากขึ้น ลดอาหารที่มีไขมัน ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มีน้ำหนักเกิน จะช่วยป้องกันมะเร็งเต้านมได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ทางด้าน ดร.นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี ประธานมูลนิธิกาญจนบารมี กล่าวว่า มูลนิธิกาญจนบารมี เป็นมูลนิธิ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้จัดตั้งขึ้นเพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โดยมูลนิธิฯ ได้จัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส โดยได้ดำเนินการติดต่อกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ซึ่งหน่วยคัดกรองมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่แต่ละหน่วยประกอบด้วย รถเอกซเรย์เต้านมด้วยระบบดิจิทัล 2 มิติ และ 3 มิติ จำนวน 2 คัน รถสาธิตการตรวจเต้านม และรถนิทรรศการเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม พร้อมเจ้าหน้าที่ทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั้ง 2 หน่วย ให้บริการประชาชนวันละ 1 อำเภอ ทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น โดยการให้บริการประกอบด้วย

1) รณรงค์ให้สุขศึกษา เรื่องมะเร็งเต้านม

2) คัดกรอง ค้นหา ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม แล้วนำผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงมาสอนวิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ตรวจเต้านม เอกซเรย์เต้านม และส่งต่อผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมในระยะเริ่ม ไปรักษาในโรงพยาบาลในจังหวัดนั้น ๆ

ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ มูลนิธิกาญจนบารมี โทรศัพท์ 0 2591 8185-6 กรมอนามัย / 1 เมษายน 2565