สสส. เปิดตัว “สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ” ฮับการเรียนรู้สร้างเสริมสุขภาพครบวงจร ปั้น “นักสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ” แง้มหลักสูตรพัฒนาศักยภาพกว่า 50 หลักสูตร อบรมเด็ดโดนใจภาคีเครือข่ายสุขภาพ องค์กรรัฐ-เอกชน พร้อมแสวงหาพันธมิตรสุขภาพ ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ชั้น 34 อาคาร SM Tower เขตพญาไท กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเปิดตัว สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ OPEN HOUSE: ThaiHealth Academy เป็นทางการครั้งแรก โดยมีพิธีทำบุญเลี้ยงพระ พร้อมมีกิจกรรม Workshop หลักสูตร Communication across generations – การสื่อสารเพื่อความเข้าใจ รองรับ Gen ใหม่ เข้าใจGen เก่า และ Thriving & Enchanted Organization – ถอดรหัสองค์กรแห่งการเรียนรู้
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ หรือ ThaiHealth Academy” ถือเป็นหน่วยงานลักษณะพิเศษใน สสส. ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพว่าด้วยการจัดตั้งและการบริหารสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2563 ประกาศเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 ด้วยเหตุผลสองประการสำคัญ คือ
1. ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบุคคลด้านการสร้างเสริมสุขภาพให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นของ สสส. ในการสนับสนุนการยกระดับขีดความสามารถ (Competency Development) ของภาคีเครือข่าย สสส. ในฐานะหุ้นส่วนสำคัญ (Partner) ที่ร่วมขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะในประเทศ
2. มุ่งขยายฐานผู้รับประโยชน์ไปยังกลุ่มบุคคล หน่วยงาน และองค์กรภาคสังคมต่างๆ ตลอดจนภาคเอกชน ในการสร้าง “นักสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ” ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการก่อให้เกิดสังคมสุขภาวะทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
“ในปี 2565 มีการพัฒนาหลักสูตรตามสมรรถนะหลักที่จำเป็นในการขับเลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Core Competency) การจัดอบรมพัฒนาศักยภาพ จัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต การประชุมวิชาการ ตลอดจนให้บริการทางวิชาการ ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ และการสร้างพันธมิตรความร่วมมือเพื่อการขยายหลักสูตรหรือขยายฐานกลุ่มเป้าหมายผู้รับประโยชน์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเกิดหลักสูตร งานพัฒนาศักยภาพภาคี 21 หลักสูตร งานพัฒนาหลักสูตร หน่วยงานภายนอก 30 หลักสูตร มีผู้ได้รับประโยชน์เข้าร่วมอบรมจำนวนกว่า 2,600 ราย สสส. มุ่งหวัง ที่จะเห็นสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้ คือ พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายอย่างเป็นระบบ สามารถพัฒนาขีดความสามารถ และยกระดับภาคีเครือข่ายให้เป็น “นักสร้างเสริมสุขภาวะมืออาชีพ” และได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ” ดร.สุปรีดา กล่าว
รศ. ดร.นพ. นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สถาบันฯ มีทิศทางและยุทธศาสตร์การดำเนินงานที่ชัดเจน เป็นองค์กรรูปแบบกึ่งธุรกิจที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยมีพันธกิจในการพัฒนาศักยภาพและให้คำปรึกษาภาคีเครือข่าย เพื่อยกระดับขีดความสามารถนักสร้างเสริมสุขภาพ บทบาทของสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ จึงเป็นการร่วมสนับสนุนพัฒนาศักยภาพของบุคคลด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เสริมสร้างความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมให้บุคคลสามารถดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว รวมถึงสนับสนุนผลักดันให้สังคม สิ่งแวดล้อม อยู่ในสภาวะที่เอื้อต่อการทำให้มีสุขภาพที่ดี ลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดผลทางสุขภาพ และเพิ่มพฤติกรรมสุขภาพพึงประสงค์
“หลักการพื้นฐานที่ สสส. วางไว้เป็นต้นแบบในการพัฒนาองค์ความรู้ คือ 5+2 Core Competency ประกอบไปด้วย 5 สมรรถนะหลัก คือ การสร้างเสริมสุขภาวะ, การบริหารโครงการสุขภาวะ, การสื่อสารเพื่อสังคมสุขภาวะ, การสร้างและบริหารเครือข่าย, ผู้นำและทักษะในการจัดการในงานสุขภาวะ และอีก 2 สมรรถนะ คือ การจัดการความรู้ และการจัดการความยั่งยืน” รศ. ดร.นพ. นันทวัช กล่าว
รศ. ดร.นพ. นันทวัช กล่าวต่อว่า สำหรับหลักสูตรอบรมพัฒนาศักยภาพที่น่าสนใจครอบคลุมทั้งภาคีเครือข่ายสุขภาพ องค์กรภาครัฐและเอกชน อาทิ หลักสูตรนักประเมินภายในมืออาชีพเป็นการประเมินภายใน (Internal Evaluation) เครื่องมือทางสังคมอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ทำงานขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะสามารถยกระดับคุณภาพการทำงานได้ทันต่อสถานการณ์และปัญหา หลักสูตรกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงสู่องค์กรสุขภาวะ (Transformation Strategies for Well-being Organization) สำหรับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชน หลักสูตรการผลักดันนโยบายสาธารณะ (Policy Brief / Policy Advocacy) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ และหลักสูตรถอดรหัสองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Thriving & Enchanted Organization)
สำหรับองค์กรภาคเอกชน เพื่อพัฒนาการเรียนรู้สภาวะของการเป็นผู้นำองค์กร (Leadership) สร้างการเรียนรู้ร่วมกันของคนในองค์กร (Team Learning) ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และทักษะร่วมกัน และสร้างทัศนคติต่อบุคลากรให้มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดเวลา สร้างแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) และสร้างฐานความรู้ที่เข้มแข็ง (Core Competence) ให้องค์กรเท่าทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันทั้งในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ยังมีการออกแบบหลักสูตรเฉพาะเพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทขององค์กรนั้นๆ อีกด้วย