สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน มาทรงเปิดการประชุมและทรงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2565
วันที่ 31 มีนาคม 2565 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดการประชุมและทรงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2565 ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ข้าราชการ และประชาชน เฝ้ารับเสด็จฯ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กราบบังคมทูลรายงานว่า การประชุมครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์รายงานผลการดำเนินงานโครงการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน ระหว่างปี 2563 – 2565 และการดำเนินงาน ในระยะต่อไป รวมทั้งรายงานการดำเนินงานของภาคีเครือข่าย 3 หน่วยงาน ได้แก่ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ประธานชมรมผู้ประกอบการเกลือเสริมไอโอดีน และผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กราบบังคมทูลถวายรายงานผลการดำเนินงานความก้าวหน้า ตั้งแต่กรกฎาคม 2563 – กุมภาพันธ์ 2565 ตามแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน พ.ศ.2560 – 2564 ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การขับเคลื่อนการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนสู่ความยั่งยืน ขับเคลื่อนการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน สู่ความยั่งยืน มีกระบวนการขับเคลื่อนที่สำคัญ คือ การขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ดำเนินการโดยกระทรวงสารณสุขเป็นหลักซึ่งได้ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการควบคุมและป้องกัน โรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ พ.ศ. 2565-2570 จนสำเร็จ นอกจากนี้ได้กำกับติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานภายใต้คณะอนุกรรมการ ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์โรคขาดสารไอโอดีน สถานการณ์โรคขาดสารไอโอดีน ในภาพรวมของประเทศ อยู่ในระดับได้รับไอโอดีนเพียงพอ รวมทั้งคุณภาพเกลือเสริมไอโอดีน ณ สถานที่ผลิต สถานที่จำหน่าย และในครัวเรือนดีขึ้น แต่ยังไม่บรรลุค่าเป้าหมาย และการเฝ้าระวังโรคขาดสารไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์พบว่า มีหญิงตั้งครรภ์ ได้รับยาเสริมไอโอดีน ธาตุเหล็ก และกรดโฟลิกเพิ่มขึ้น
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การประชาสัมพันธ์และการตลาดเชิงสังคม การพัฒนาระบบดิจิตอลแพลตฟอร์มอนามัยไอโอดีน และรณรงค์ ประชาสัมพันธ์เนื่องในวันไอโอดีนแห่งชาติ รวมทั้งสื่อสารประชาสัมพันธ์หลากหลายช่องทาง เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ปัจจุบันมีชุมชนหมู่บ้านไอโอดีนระดับเหรียญทองแดง 6,991 แห่ง เหรียญเงิน 3,142 แห่ง และเหรียญทอง 5,798 แห่ง รวมทั้งสิ้น 15,931 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 20.7 ของจำนวนชุมชนหมู่บ้านทั้งหมด และมีร้านอาหารที่ใช้เกลือและผลิตภัณฑ์ เสริมไอโอดีน รวม 10,566 แห่ง
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนา ได้ดำเนินการวิจัยเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ขจัดปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนให้หมดไปจากประเทศไทย เช่น การประเมินการใช้เกลือเสริมไอโอดีนในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป
สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไป คือการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ พ.ศ.2565 – 2570 โดยมีวิสัยทัศน์ ขจัดโรคขาดสารไอโอดีนให้หมดไปจากประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างสติปัญญาและสุขภาพที่ดี โดยสร้างความตระหนักและมีส่วนร่วมในการขจัดโรคขาดสารไอโอดีน ซึ่งได้กำหนดค่าเป้าหมาย ดังนี้
1) ประชากรไทยมีภาวะขาดสารไอโอดีนไม่เกินค่ามาตรการที่กำหนด
2) ชุมชนหมู่บ้าน เป็นชุมชนหมู่บ้านไอโอดีน ร้อยละ 100
3) ประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ ปรุงรสเสริมไอโอดีที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน ร้อยละ 80
ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานคำชี้แนะ และทรงมีพระราชวินิจฉัย แผนการดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน ทอดพระเนตรนิทรรศการ และฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ
กรมอนามัย / 31 มีนาคม 2565