วธ.อนุรักษ์สืบสานการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ร่วมจ.พระนครศรีอยุธยา สมาคมลิเกประเทศไทย หน่วยงานรัฐ เอกชน เครือข่ายวัฒนธรรม “มหกรรมนาฏดนตรี เปิดตำนานการแสดงลิเก”

วธ.อนุรักษ์สืบสานการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ร่วมจ.พระนครศรีอยุธยา สมาคมลิเกประเทศไทย หน่วยงานรัฐ เอกชน เครือข่ายวัฒนธรรม จัดงาน “มหกรรมนาฏดนตรี เปิดตำนานการแสดงลิเก” วันที่ 31 มี.ค.- 3 เม.ย.นี้ ณ วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มุ่งขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG และผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทย เช่น ศิลปะการแสดง งานฝีมือและหัตถกรรม อาหารไทย การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รวมถึงวธ.มีนโยบายสืบสาน รักษาและต่อยอดงานศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน จึงมุ่งส่งเสริมและเปิดพื้นที่ให้ศิลปินพื้นบ้านได้มีโอกาสถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้านและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมให้เด็ก เยาวชนและประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน

ซึ่งในส่วนของศิลปะการแสดงนาฏดนตรีหรือลิเกเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอันทรงคุณค่า และมีรูปแบบการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวสามารถดำเนินเรื่องได้หลากหลาย การแสดงลิเกมีประวัติความเป็นมาอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ให้ความสนุกสนาน บันเทิงโดยเฉพาะวิถีภาคกลางยามเมื่อมีเทศกาลงานประเพณี การแสดงลิเกมักเป็นส่วนหนึ่งของงานมหรสพนั้นๆเสมอ ดังนั้น วธ.ร่วมมือกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สมาคมลิเกประเทศไทย หน่วยงานรัฐ เอกชน ชุมชนและเครือข่ายทางวัฒนธรรม จัดงาน “มหกรรมนาฏดนตรี เปิดตำนานการแสดงลิเก” ขึ้น ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 3 เมษายน 2565 ณ วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยพิธีไหว้ครูลิเก นิทรรศการเผยแพร่องค์ความรู้การแสดงลิเก การแสดงของคณะลิเก 12 คณะ เช่น คณะศรราม น้ำเพชร คณะรวมดาวสิงห์บุรี คณะนุ๊ก กิติภพ วินิจ เป็นต้น การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคกลาง การสาธิต ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งงานนี้เป็นการขับเคลื่อนนโยบาย และวิสัยทัศน์ใหม่ของวธ. คือ “วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์มีบทบาทนำในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย” และปรับเปลี่ยนบทบาทสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ “วัฒนธรรมทำดี ทำงาน ทำเงิน” รวมทั้ง การอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาต่อยอดอัตลักษณ์ไทย สู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ศิลปิน ผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรมและชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี