กรมอนามัย ชวนทำความสะอาดบ้าน ชุมชน ให้สะอาดปลอดเชื้อโควิด รับสงกรานต์ เดือนรอมฎอน

วันที่ 30 มีนาคม 2565 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย และ นายสุธรรม บุญมาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี แถลงข่าว “บ้านสะอาด ปลอดเชื้อ ชุมชนสะอาด ปลอดโควิด เตรียมให้พร้อม (ก่อน) วันสงกรานต์และเดือนรอมฎอน”

​นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ก่อนเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ และเดือนรอมฎอน หากประชาชนมีความย่อหย่อนในมาตรการส่วนบุคคล อาจส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่รายวันจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจากผลสำรวจอนามัยโพล ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน เกี่ยวกับภาพรวมของพฤติกรรมพึงประสงค์ DMH หรือ การเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากากในที่สาธารณะ และการล้างมือทุกสัมผัส พบว่าร้อยละ 80 เฉพาะเดือนมีนาคม 2565 มีพฤติกรรม DMH ครบถ้วน ร้อยละ 81 จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนยึดหลัก Universal Prevention ในการปฏิบัติ เพื่อความปลอดภัย ของตนเอง ในครอบครัว และชุมชน

นอกจากนี้ ผลการสำรวจอนามัย Event Poll เรื่องการวางแผนเข้าร่วมกิจกรรม ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า ประชาชนครึ่งหนึ่ง เลือกที่จะอยู่บ้าน ไม่มีการนัดรวมกลุ่มกัน โดย 1 ใน 3 มีแผนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมในวัด ทำบุญตักบาตร และสรงน้ำพระ สำหรับประชาชนอีกส่วนหนึ่ง วางแผนที่จะไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ รวมถึงมีแผนในการสังสรรค์กินข้าวกับครอบครัว และเพื่อนฝูง โดยในส่วนของพฤติกรรมเชิงป้องกันในการปฏิบัติที่บ้าน หรือในครัวเรือน พบว่า มีการสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่กับผู้อื่นในบ้าน ร้อยละ 72 และการทำความสะอาด พื้นผิวสัมผัสบ่อย ๆ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น รวมทั้งมีการคัดแยกขยะ ทั้งหน้ากากอนามัย และ ATK ที่ใช้แล้ว ประมาณร้อยละ 81-84 ทั้งนี้ แผนการทำกิจกรรมต่าง ๆ นั้น ส่วนมากมีความเกี่ยวข้องกับบ้านและชุมชน ดังนั้น การเตรียมบ้านให้สะอาดปลอดเชื้อ และชุมชนสะอาดปลอดโควิด-19 เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนวันสงกรานต์ ถือเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาด โรคโควิด-19 ได้อีกทางหนึ่งด้วย

​ทางด้าน นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หลักปฏิบัติในการจัดการบ้านให้ปลอดภัย ปลอดโควิด ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม จะเน้น 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1) การจัดสภาพแวดล้อม ควรเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่รกรุงรัง มีการระบายอากาศที่ดี และมีการทำความสะอาดด้วยอุปกรณ์ที่เหมาะสม

2) การระบายอากาศ ที่เป็นพื้นที่โล่ง ให้เปิดหน้าต่าง ประตู หรือช่องลม อย่างน้อย 2 ด้านของห้อง เพื่อเป็นช่องทางให้ลมเข้าและออกได้ดี รวมทั้งกรณี ใช้เครื่องปรับอากาศ ควรมีการเปิดประตู หน้าต่างเป็นระยะ ๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนอากาศระหว่างภายในและภายนอก การเปิดพัดลมในบริเวณที่เป็นมุมอับ จะช่วยให้อากาศมีการกระจายมากขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการใช้ห้องที่มีอากาศปิด หากจำเป็นต้องใช้ ต้องมีการเปิดประตูเพื่อระบายอากาศเป็นระยะ อย่างน้อยทุก 1-2 ชั่วโมง ในกรณีที่ใช้เครื่องปรับอากาศ ให้บำรุงรักษาระบบอย่างสม่ำเสมอ ตามระยะเวลาที่กำหนด

3) การทำความสะอาดบ้าน ขอให้เน้นย้ำทำความสะอาด จุดสัมผัสร่วม เช่น ลูกบิดประตู เก้าอี้นั่ง ชักโครก สายยาง ก๊อกน้ำในห้องน้ำห้องส้วม เป็นต้น แต่หากไม่มีเวลา ให้ใช้แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ พ่นที่จุดสัมผัสเหล่านั้น ในส่วนที่มีการแยกห้อง แยกโซน ที่สำคัญ เน้นย้ำลูกหลาน หากพบว่าตนเองเพิ่งติดเชื้อโควิด ให้งดการเดินทาง แต่หากพบหลังจากเดินทางแล้ว จะต้องจัดการแยกห้องแยกโซน เพื่อความปลอดภัยของคนอื่น ๆ ในบ้าน โดยบ้านที่มีพื้นที่จำกัด จำเป็นจะต้องแยกโซนให้ชัดเจน หากใช้ห้องน้ำร่วมกัน ผู้ติดเชื้อควรใช้ เป็นลำดับสุดท้าย และทำความสะอาดอย่างเข้มข้น

​ 4) การจัดการขยะติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นกรณีแยกกักตัว หรือกรณีทั่วไป หน้ากากอนามัย และ ATK ที่มีการตรวจด้วยตนเอง ถือเป็นขยะติดเชื้อที่มีความเสี่ยงสูง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแยกจัดการจากขยะทั่วไป สำหรับพื้นที่ ที่ไม่มีระบบการเก็บขนขยะติดเชื้อ ให้รวบรวมขยะติดเชื้อเป็นประจำวัน โดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น ในถุงขยะชั้นแรกที่มีขยะติดเชื้อ ให้ราดด้วยสารฆ่าเชื้อ (แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ หรือน้ำยาฟอกขาว) ลงในถุง เพื่อทำลายเชื้อ และเมื่อผูกปากถุงในแต่ละชั้น ให้พ่นแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ หรือน้ำยาฟอกขาวทุกครั้ง

ซึ่งขยะที่ผ่านการทำลายเชื้อแล้ว สามารถนำไปกำจัด แบบขยะทั่วไปได้ สำหรับพื้นที่ที่มีระบบการเก็บขนขยะติดเชื้อ ให้ใส่ถุงแดง 2 ชั้น โดยเมื่อผูกปากถุงขยะในแต่ละชั้น ให้พ่นแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ หรือน้ำยาฟอกขาว แล้วนำไปไว้ยังจุดพักขยะที่จัดไว้เฉพาะ หากไม่มีถุงแดง ให้ใช้ถุงสีอื่นได้ แต่ต้องมีการเขียนข้อความ “ขยะติดเชื้อ” เพื่อให้ผู้จัดเก็บขยะสังเกตเห็นได้ชัดเจน” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว​

ทางด้าน นายสุธรรม บุญมาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี กล่าวว่า เดือนรอมฎอน จะเริ่มนับเมื่อดวงจันทร์ ลับขอบฟ้า ในวันที่ 2 เมษายน หากมีผู้เห็นจันทร์เสี้ยวในวันที่ 3 เมษายน ให้นับเป็นวันแรกของการถือศีลอด แต่หากในวันดังกล่าวไม่มีผู้เห็นจันทร์เสี้ยว ให้นับวันถัดไปคือวันที่ 4 เมษายน เป็นวันแรกของการถือศีลอด ซึ่งการถือศีลอด ถึงแม้เป็นภารกิจที่จำเป็นต้องปฏิบัติ แต่ต้องทำอย่างระมัดระวัง ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและเป็นอันตรายต่อตัวเอง และสังคม ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขอให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมปฏิบัติตนตามมาตรการ ของกระทรวงสาธารณสุข และสำนักจุฬาราชมนตรี ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

ซึ่งในเดือนรอมฎอนมีการรวมตัว เพื่อทำกิจกรรมหลายครั้ง เช่น ร่วมรับประทานอาหารในการเตรียมถือศีลอด รวมตัวกันเพื่อละหมาด กิจกรรมเหล่านี้ ต้องตระหนัก และปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยให้ระมัดระวังผู้ที่กลับมาจากการทำงานต่างถิ่น ต่างจังหวัด ต้องมีการรักษามาตรการ ด้วยการแยกรับประทานอาหาร ไม่ใช้ภาชนะร่วมกัน สำหรับพิธีการละหมาดที่มัสยิด ถือเป็นการ ทำกุศลกิจที่สามารถทำที่บ้านได้ หากมีความจำเป็น แต่ในกรณีที่มัสยิดมีความพร้อมปฏิบัติตามมาตรการ รวมถึงผู้ที่จะไปปฏิบัติศาสนกิจ มีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดก็สามารถทำได้ โดยมัสยิดต้องมีการเตรียมสถานที่ให้พร้อม เช่น การกำหนดจุดละหมาดให้มีการเว้นระยะห่างที่ถูกต้อง มีเจลแอลกอฮอล์ไว้สำหรับบริการ และสถานที่มีระบบการถ่ายเทอากาศที่ดี

“นอกจากนี้ จะมีการรวมตัวกันอีกครั้งในการทำอาหารเลี้ยงเพื่อละศีลอด ซึ่งโดยปกติเป็นมัสยิดที่เป็นผู้ที่ทำอาหาร จึงขอความร่วมมือให้มัสยิดจัดอาหารเฉพาะบุคคล ไม่ใช้ภาชนะปะปนกัน หรือให้จัดอาหารใส่ถุงเพื่อแจกตามบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงในการรวมตัวของคนหมู่มาก เมื่อถือศีลอดครบ 29 หรือ 30 วันแล้ว จะมีการเฉลิมฉลองหรือที่เรียกกันว่า วันอีดิลฟิฏริ เป็นอีกอดิเรกกิจที่สามารถทำได้ที่บ้านเช่นเดียวกัน แต่ถ้าหากต้องการปฏิบัติที่มัสยิด ควรจัดในสถานที่โล่งกว้าง และให้ใช้ระยะเวลาในการทำกิจกรรมให้น้อยที่สุด โดยผู้สูงอายุหรือเด็กควรงดละหมาดที่มัสยิด เพื่อความปลอดภัย” ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี กล่าว

***
กรมอนามัย/ 30 มีนาคม 2565