เกษตรฯ ชี้เหตุราชินีผลไม้ราคาตก ผลผลิตทะลัก ขาดแรงงาน

กรมวิชาการเกษตร  แจง สภาพอากาศร้อนสลับฝนส่งผลมังคุดสุกแก่เร็ว  ผลผลิตล้น  ผู้ประกอบการตั้งรับไม่ทันขาดแรงงานคัดแยกผลผลิต  ส่งผลราคาตกต่ำ   ยันมาตรการตรวจสอบก่อนปล่อยผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นไปตามเงื่อนไขคู่ค้า  เอื้อส่งออกทั้งลดขั้นตอนตรวจสอบ สะดวกและรวดเร็ว  


นางสาวเสริมสุข  สลักเพ็ชร์
  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  ตามที่มีการโพสต์ข้อความในสื่อโซเซียลมีเดีย ว่า กรมวิชาการเกษตรดำเนินงานล่าช้าเป็นเหตุให้ราคามังคุดตกต่ำนั้น  ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เกี่ยวข้องของกรมวิชาการเกษตร  ได้แก่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรีและด่านตรวจพืชจันทบุรี  เข้าไปตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ราคามังคุดตกต่ำ   พบว่าในปีนี้มังคุดภาคตะวันออกมีปริมาณผลผลิตมากและมีหลายรุ่น   ซึ่งจะเริ่มทยอยสุกและเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม  และจะมีปริมาณผลผลิตออกตลาดมากในช่วงเดือนพฤษภาคม   แต่ในปีนี้จากสภาพอากาศร้อนสลับกับฝนตกเป็นบางช่วง  ทำให้มังคุดสุกแก่เร็วกว่าปกติ  ผลผลิตมังคุดรุ่นแรกทะลักออกสู่ตลาดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้   ทำให้ผู้ประกอบการบางรายจัดเตรียมแรงงานไว้สำหรับคัดแยกมังคุดไม่เพียงพอ   ประกอบกับมีการกวดขันจับกุมแรงงานผิดกฎหมายทำให้โรงคัดบรรจุขาดแคลนแรงงาน  จึงเป็นสาเหตุทำให้มังคุดราคาตกต่ำ  มิได้มีความเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตรแต่อย่างใด

ที่ผ่านมาทางการจีนได้เข้มงวดในการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และได้มีการทำหนังสือแจ้งเตือนประเทศไทยหลายครั้งให้ดำเนินการแก้ไขเรื่องการตรวจพบศัตรูพืชในผลไม้ที่นำเข้าจากไทย   ซึ่งหากฝ่ายไทยยังไม่ดำเนินการแก้ไข  อาจเป็นเหตุผลที่ฝ่ายจีนจะระงับการนำเข้าผลไม้จากประเทศไทย   สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร  จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติงานโดยมอบหมายให้หัวหน้าด่านตรวจพืชจันทบุรีเป็นผู้จัดการในการตรวจสินค้าในเขตจังหวัดจันทบุรี   ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอกรมวิชาการเกษตรได้เตรียมความพร้อมจัดกำลังเจ้าหน้าที่จากด่านตรวจพืชอื่นๆ ของกรมวิชาการเกษตรเพื่อช่วยดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม   โดยนายตรวจพืชจะให้บริการสุ่มตรวจศัตรูพืชถึงโรงคัดบรรจุเพื่อสนับสนุนการส่งออกให้เกิดความคล่องตัวและรวดเร็ว

นอกจากนี้ ในช่วงเดือนเมษายนนี้คาดว่าจะมีผลผลิตมังคุดและทุเรียนออกมาเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีศัตรูพืชกักกันติดไปกับทุเรียนและมังคุด และให้เป็นไปตามข้อตกลงไทย-จีน  กรมวิชาการเกษตรจะจัดนายตรวจพืชลงมาดำเนินการตรวจสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ   โดยเบื้องต้นได้สั่งการให้ด่านตรวจพืชดำเนินการตรวจสอบทุเรียนที่ส่งออกอย่างเข้มงวด  และให้โรงคัดบรรจุที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียน GMP ปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด   ซึ่งก่อนเปิดฤดูกาลส่งออกทุเรียนและมังคุด  นายตรวจพืชได้ลงพื้นที่ให้คำแนะนำและตรวจสอบเครื่องมือ/อุปกรณ์ทำความสะอาดผลทุเรียนและมังคุด รวมถึงการกำจัดศัตรูพืช  พร้อมกับทำหนังสือแจ้งผู้ประกอบการส่งออกให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของประเทศคู่ค้าอย่างเคร่งครัด   โดยที่ผ่านมาได้ร่วมประชุมหารือกับผู้ประกอบการ/ผู้ส่งออก   เพื่อชี้แจงให้ทราบถึงเงื่อนไขการปฏิบัติเพื่อการส่งออกทุเรียนและมังคุดที่เป็นไปตามเงื่อนไขของประเทศคู่ค้าแล้ว

“เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชจะไปสุ่มตรวจทุเรียนและมังคุดสดที่จะส่งออก ณ โรงคัดบรรจุ โดยเน้นตรวจสอบศัตรูพืชของทุเรียนและมังคุด ที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ เพลี้ยแป้ง หนอนเจาะเมล็ด  และเชื้อรา   ซึ่งหลังตรวจสอบแล้วหากพบว่าเป็นไปตามเงื่อนไขเจ้าหน้าที่จะปิดผนึกหรือซิลล์ตู้คอนเทนเนอร์เพื่อจะไม่ต้องเปิดตู้ตรวจซ้ำ ณ หน้าด่านก่อนส่งออกอีก  ซึ่งวิธีการดังกล่าวช่วยลดขั้นตอนการทำงานและทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วต่อผู้ประกอบการด้วย    อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาที่เจ้าหน้าที่พบจากการเข้าไปตรวจสอบผลผลิตที่โรงคัดบรรจุหลายครั้ง  ได้แก่ สินค้าไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ประเทศคู่ค้ากำหนด  ซึ่งเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ประกอบการดำเนินการแก้ไขและกลับมาตรวจครั้งที่ 2 โดยการตรวจในรอบนี้อาจจะมีความล่าช้าอยู่บ้าง   แต่เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว  และตรวจปล่อยตู้คอนเทนเนอร์ที่ได้รับแจ้งจนหมด  จึงขอยืนยันว่าขั้นตอนการปฏิบัติงานดังกล่าวของกรมวิชาการเกษตรไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ราคามังคุดตกต่ำตามที่มีผู้กล่าวอ้างแต่อย่างใด” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

***********************************