สช. เปิดรับฟังความเห็นครั้งใหญ่ จัดเต็ม 4 เวที ยกเครื่อง ‘เข็มทิศสุขภาพไทย’ ประเดิมวงแรก! ‘ภาคียุทธศาสตร์’ ระดับชาติ

สช.จัดเวทีรับฟังความเห็นกลุ่มภาคียุทธศาสตร์-เจ้าภาพหลัก ต่อ “ร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3” ร่วมวางกรอบการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศในอีก 5 ปี เป็นเครื่องมือนำไปใช้ประโยชน์-ขับเคลื่อนของทุกฝ่ายได้จริง พร้อมรับฟังความเห็นต่อเนื่องอีก 3 เวที ก่อนนำเข้าเวที “สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น” วันที่ 25 เม.ย.นี้ เพื่อสร้างพันธสัญญาขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ซึ่งเป็นเวทีเพื่อสร้างการรับรู้และความเป็นเจ้าของ รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ซึ่งเปรียบได้กับเข็มทิศสุขภาพของประเทศไทย โดยนับเป็นเวทีแรกของการจัดการรับฟังในกลุ่มภาคียุทธศาสตร์ และเจ้าภาพหลักที่ยกร่าง

นายสุทธินันท์ บุญมี ประธานคณะทำงานการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 เปิดเผยว่า (ร่าง) ธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ภายใต้คณะกรรมการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ที่มี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน ได้ผ่านเส้นทางของกระบวนการออกแบบ สัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ และรับฟังความเห็นจากภาคีหลากหลายภาคส่วน พร้อมปรับแก้จนได้ออกมาเป็นร่างฉบับล่าสุดในขณะนี้

สำหรับ (ร่าง) ธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 นี้กำลังเดินหน้าเข้าสู่ขั้นตอนที่สำคัญ คือการจัดเวทีสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมในกลุ่มต่างๆ ทั้งภาคียุทธศาสตร์ ภาคีภาครัฐ ภาคีภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ผู้แทนคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ผู้แทนสมัชชาสุขภาพจังหวัด ที่จะมีการจัดขึ้นรวม 3 เวทีในวันที่ 22, 29 มีนาคม และ 5 เมษายน 2565 อันมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาคีทุกส่วนได้ทำความเข้าใจ และมาร่วมกันกำหนดแนวทางในการนำธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ไปใช้ประโยชน์และขับเคลื่อนร่วมกันในอนาคต

“สิ่งสำคัญที่สุดในกระบวนการจัดทำธรรมนูญฯ ฉบับนี้ คือจะต้องเป็นกรอบการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศที่ได้รับการยอมรับ และทุกภาคส่วนสามารถนำไปใช้อ้างอิงในการทำงานได้จริง ฉะนั้นความเห็นจากภาคีที่เข้าร่วมในแต่ละเวที จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำไปปรับปรุง แก้ไข และขับเคลื่อนธรรมนูญ เพื่อให้ระบบสุขภาพไทยเป็นไปตามภาพพึงประสงค์ของทุกคน สามารถนำไปใช้ได้อย่างแท้จริงต่อไป” นายสุทธินันท์ กล่าว

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานอนุกรรมการวิชาการและยกร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ไปแล้วรวม 2 ฉบับ ซึ่งแต่ละฉบับมีการเขียนเป้าหมาย ขั้นตอน วิธีการ ตลอดจนตัวชี้วัดที่ต่างรูปแบบ โดยแต่ละรูปแบบมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 นี้ได้เปลี่ยนวิวัฒนาการโครงสร้างในการเขียนที่ไม่ได้แยกเป็นสาระรายหมวดเหมือนในฉบับที่ 1 และ 2 หากแต่จะจัดกลุ่มไว้ให้เห็นความเชื่อมโยงของการดำเนินงาน

ทั้งนี้ เนื้อหาในธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบริการสุขภาพ และกลุ่มประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพ ที่รวมถึงปัจจัยสังคมที่กำหนดสุขภาพ เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงของการดำเนินงานในภาพของกลุ่มประเด็น ซึ่งจะช่วยให้การขับเคลื่อนหรือการนำธรรมนูญฯ ไปปฏิบัติ มีการมองในเชิงระบบและมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ไม่ได้แยกเป็นส่วนๆ เหมือนเดิม

“นอกจากนี้ความแตกต่างของธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 จาก 2 ฉบับที่ผ่านมา คือการระบุเป้าหมายในระยะ 5 ปีที่ชัดเจนไว้คือ ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม เพื่อให้การกำหนดหมุดหมายและการวางแนวทางขับเคลื่อนในแต่ละระยะเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเน้นการเขียนแบบกระชับ เป็นเชิงหลักการ กรอบแนวคิด และมาตรการหลักๆ เท่านั้น ส่วนสาระสำคัญรายประเด็นตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 จะนำไปจัดทำเป็นอีกส่วนหนึ่งของธรรมนูญฯ ที่จะมีการระบุรายละเอียดมากขึ้น เพื่อให้ภาคีทุกระดับนำไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติและขับเคลื่อนต่อไป” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ผลการจัดเวทีในกลุ่มภาคียุทธศาสตร์ และเจ้าภาพหลักที่ยกร่างธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ครั้งนี้ ได้รับความเห็นและข้อเสนอที่เป็นประโยชน์เพื่อปรับปรุงแก้ไขเนื้อหารวมถึงแนวทางการขับเคลื่อน เช่น การมุ่งเน้นการขับเคลื่อนธรรมนูญฯ จากทุกภาคส่วน ทั้งพลังจากภาคนโยบาย พลังความรู้ พลังทางสังคม รวมทั้งภาคเอกชน หรือการเสนอให้มุ่งเน้นไปที่การสร้างความเป็นธรรมให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก เยาวชน และผู้ด้อยโอกาสต่างๆ

“ภาคียังได้มีการเสนอถึงสถานการณ์สำคัญ เช่น ความแตกต่างในเชิงการยอมรับและความหลากหลายในสังคม การแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน การนำเครื่องมืออื่นๆ มาใช้เพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง รวมถึงมีความเห็นเพิ่มเติมในส่วนของกรอบแนวคิดที่ให้เน้นเรื่องการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า เอื้อเฟื้อช่วยเหลือดูแลกัน การให้ความสำคัญกับศักยภาพของทุนมนุษย์ ความเป็น Active Citizen ตลอดจนข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการขับเคลื่อนงานของแต่ละหน่วยงานที่จะนำธรรมนูญฯ ไปใช้ประโยชน์” นพ.ประทีป กล่าว

นพ.ประทีป กล่าวว่า ความเห็นและข้อเสนอของทุกคนจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการจัดทำธรรมนูญฯ ซึ่ง สช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการจัดทำธรรมนูญฯ จะรับข้อเสนอและความเห็นของทุกคนในวันนี้ รวมทั้งที่จะได้รับจากเวทีหลังจากนี้ นำไปปรับปรุงแก้ไขร่างธรรมนูญฯ และเป็นข้อมูลนำเข้าในเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ซึ่งเตรียมจะจัดขึ้นในวันที่ 25 เม.ย. 2565 เพื่อสร้างการรับรู้ การมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 และสร้างพันธสัญญาในการขับเคลื่อนร่วมกัน ก่อนที่จะส่งร่างฉบับสมบูรณ์ให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภา ก่อนประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป