ปลัด สธ. ให้ทุกจังหวัดเร่งทำความเข้าใจและฉีดวัคซีนโควิด 19 แก่ผู้สูงอายุ เพื่อต้อนรับ ลูก-หลาน กลับบ้านอย่างปลอดภัยช่วงเทศกาลสงกรานต์

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมหัวหน้าหน่วยงานสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับทุกจังหวัดเร่งสื่อสารสร้างความเข้าใจและฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้กับประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพื่อต้อนรับลูก-หลาน กลับบ้านอย่างปลอดภัยช่วงเทศกาลสงกรานต์ ลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต ส่วนลูกหลานทำตัวเองให้ปลอดเชื้อก่อนกลับ ป้องกันการติดเชื้อและนำไปเเพร่ต่อ

วันที่ 22 มีนาคม 2565 ที่ ศูนย์การประชุมนานาชาตินงนุชพัทยา อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดกิจกรรม “Save 608 by Booster Dose” รณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด 19ในผู้สูงอายุ เพื่อต้อนรับ ลูก-หลาน กลับบ้านอย่างปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในการประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนอกสถานที่ ครั้งที่ 2 ประจำปีงบประมาณ 2565 โดยย้ำว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโควิด 19 มากที่สุด ข้อมูลผู้เสียชีวิตในแต่ละวัน ประมาณ 90% เป็นกลุ่ม 608 และ 70% ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน โดยมีผู้สูงอายุประมาณ 3 ล้านคน ที่ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครอบคลุมมากที่สุด ขอให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งเร่งจัดกิจกรรมฉีดวัคซีนประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุให้ครอบคลุมมากที่สุดภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ เพื่อให้ทุกคนในประเทศมีภูมิต้านทานที่เพียงพอ ลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต รวมถึงลดความเสี่ยงอาจนำเชื้อไปแพร่ต่อโดยไม่รู้ตัว โดยใช้กลไกล 3 หมอ ให้ อสม. ลงพื้นที่เชิงรุกสร้างความเข้าใจและชักชวนประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับลูกหลานที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา ขอให้ทำตัวเองให้ปลอดจากเชื้อโควิด 19 ตามแนวทาง COVID Free Personal ด้วยการฉีดวัคซีนทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้น ช่วง 1 สัปดาห์ก่อนเดินทาง งดการรวมกลุ่มสังสรรค์ พบปะผู้คนจำนวนมาก หรือเข้าไปยังสถานที่เสี่ยง และตรวจ ATKก่อนเดินทาง เพื่อคัดกรองตนเอง ลดความเสี่ยงนำเชื้อกลับไปแพร่ให้ผู้สูงอายุที่บ้านโดยไม่รู้ตัว ทำให้การกลับไปเยี่ยมผู้สูงอายุที่บ้านมีความปลอดภัย

ทั้งนี้ หลังเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงสำคัญที่ต้องช่วยกันเฝ้าระวังการแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด หากบุคลากรสาธารณสุขและประชาชนร่วมมือกัน มั่นใจว่าจะสามารถควบคุมโรคได้ และพร้อมก้าวสู่การที่โควิด 19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นในที่สุด

********************************************** 22 มีนาคม 2565