นายเชษฐพงศ์ สัจจาผล นายแพทย์ชำนาญการ ศูนย์แพทย์ชุมชนโรงพยาบาลควนขนุน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง กล่าวภายหลังได้รับรางวัลชนะเลิศ ผลงานนิทรรศการดีเด่น (Poster Presentation) ที่จัดแสดงในการประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 22 ของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ว่า ศูนย์แพทย์ชุมชนโรงพยาบาลควนขนุน จังหวัดพัทลุง ได้รับรางวัลแสดงผลงานชุด “CMU Model : รูปแบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานแนวใหม่ ในวิกฤติโควิด-19” ถือเป็นหนึ่งใน15 ผลงานที่ได้รับรางวัล สร้างขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานอย่างมาก
นายเชษฐพงศ์ กล่าวว่า สำหรับที่มาของการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานของศูนย์แพทย์ชุมชนโรงพยาบาลควนขนุน เนื่องจากทางศูนย์มีผู้ป่วยเบาหวานที่เข้ารับบริการปี2564 สูงถึง 463 คน พบว่า ผู้ป่วยที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี มีเพียงร้อยละ35.65 เท่านั้น ยิ่งในวิกฤติโควิด-19 ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคสูงกว่าคนปกติหากติดเชื้อ ซึ่งระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบเดิม คือ ต้องเข้ามารับบริการตรวจรักษาต่อเนื่องทุก1-2 เดือน แต่ละวันมีผู้ป่วยเข้ามารับบริการครั้งละ 70-80 คน และมีระยะเวลารอคอยในการเข้ารับบริการเฉลี่ยคนละ 90 นาที ส่งผลให้เกิดความแออัดในคลินิก และการดูแลรูปแบบเดิมไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยคุมระดับน้ำตาลได้ดี
นายเชษฐพงศ์ กล่าวว่า รูปแบบดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบเดิมๆ อาจไม่ใช่คำตอบในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเป็นที่มาของการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานแนวใหม่ โดยใช้ CMU model มีคลินิกเบาหวานของศูนย์แพทย์ชุมชนโรงพยาบาลควนขนุน เป็นฐานในการขับเคลื่อน สำหรับ CMU model คือ C : Community engagement การปรับระบบนัดใหม่ ปรับระบบเครือญาติในการขับเคลื่อนงานเบาหวาน จัดระบบนัดหมายเป็นรายหมู่บ้านและเครือญาติ เช่น สัปดาห์ที่ 1 นัดตรวจคนไข้ในหมู่ 1,2 เป็นต้น M : Make a decision ตกลงร่วมกับผู้ป่วยในการตั้งเป้าหมายคุมเบาหวานด้วยตัวผู้ป่วยเอง ได้นำกระบวนการสัมภาษณ์เพื่อสร้างแรงจูงใจ U : Understand the whole person ทำความเข้าใจชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว รวมถึงชุมชน ลงเยี่ยมบ้าน ค้นหารูปแบบ Intervention เสริมพลังที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย มีการประชุมครอบครัว เพื่อให้คนในครอบครัว รวมถึงชุมชนเข้าใจ ตระหนัก มีส่วนร่วมดูแลผู้ป่วยที่บ้านให้มากขึ้น
“การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานแนวใหม่นี้ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นแนวทางในการดูแลผู้ป่วยร่วมกับครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วมนำไปใช้ง่ายและได้ผล จัดบริการแบบเหลื่อมเวลา นัดผู้ป่วยไม่เกิน 30 คน จัดสถานที่แบบรักษาระยะห่าง รอตรวจครั้งละ 12-15 คน ใช้เวลาไม่เกิน 1ชั่วโมง ทำให้การขาดนัดลดลง ทั้งนี้จากการประเมินผลตั้งแต่เดือน มกราคม 2563–31 ธันวาคม 2564 สามารถช่วยเพิ่มอัตราการควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานได้มากขึ้น ถึงร้อยละ 44.06 และลดภาวะแทรกซ้อน รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยระยะยาว ซึ่งขั้นตอนต่อไป คือการนำ CMU model นี้ไปขยายในทุก รพสต. ของอำเภอควนขนุน ต่อไป” นายเชษฐพงศ์ กล่าว