กระทรวงสาธารณสุข เผย การรักษาโควิดแบบ “เจอ แจก จบ” ได้ผลดี ช่วยผู้ติดเชื้อรับบริการรวดเร็วและครอบคลุมมากขึ้น ลดการโทรเข้าสายด่วน 1330 แนะหากเดินทางไปรักษาแบบผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาลไม่ได้ ให้โทรสายด่วน 1330 หรือช่องทางติดต่อประจำจังหวัดหรือเขต เพื่อเข้าระบบ HI
วันที่ 14 มีนาคม 2565 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวการเข้าสู่ระบบการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิด 19 อยู่ในช่วงของการปรับเข้าสู่โรคประจำถิ่นหรือยุติการระบาดใหญ่ (Post Pandemic) ซึ่งเกิดจาก
1.ปัจจุบันตัวเชื้อมีความรุนแรงลดลง ผู้ป่วยหนักหรือเสียชีวิตมีสัดส่วนลดลง
2.การฉีดวัคซีนจำนวนมากกว่า 125 ล้านเข็ม มีความครอบคลุมสูงมากขึ้น
3.ระบบรักษาพยาบาลของประเทศไทยมีสมรรถนะและความพร้อมระดับดีมาก ตามแนวทางการประเมินขององค์การอนามัยโลก
โดยในการดูแลรักษาโควิด 19 กระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มระบบการดูแลแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัว หรือ “เจอ แจก จบ” เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเข้าสู่ระบบการรักษา สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย
โดยประชาชนที่มีผลตรวจ ATK ด้วยตนเองเป็นบวก สามารถเข้าไปรับบริการคลินิกโรคทางเดินหายใจของโรงพยาบาลที่มีสิทธิการรักษาอยู่ ซึ่งในพื้นที่ กทม.มีการจัดระบบบริการนี้เช่นกัน โดยจะได้รับการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ประเมินอาการและแจกยาตามระดับอาการ พร้อมทั้งให้ความรู้การปฏิบัติตนในการกลับไปกักตัวที่บ้าน และจะมีเจ้าหน้าที่ติดตามอาการในช่วง 48 ชั่วโมงแรก เพื่อประเมินว่ามีอาการรุนแรงขึ้นจำเป็นต้องเข้าระบบการรักษาในโรงพยาบาลหรือไม่ ซึ่งจากการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา พบว่าได้ผลดี ช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวก ได้เข้าถึงบริการครอบคลุมมากขึ้น
ส่วนระบบการรักษาที่บ้าน (HI) ยังคงดำเนินการตามปกติ สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่สะดวกเดินทางมาโรงพยาบาลเพื่อรักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือไม่มีรถส่วนตัว โดยโทรสายด่วน 1330 กด 14 หรือติดต่อผ่านไลน์ สปสช. @nhso หรือโทรสายด่วนของจังหวัด หรือสายด่วนโควิดของ 50 เขต กทม. ซึ่งการรักษาแบบผู้ป่วยนอกที่เพิ่มขึ้นนี้ ช่วยลดปัญหาการรอสายหรือไม่ได้รับการติดต่อกลับของสายด่วน 1330 ทำให้ประชาชนเข้าสู่ระบบบริการได้รวดเร็วและครอบคลุมมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้สายพันธุ์โอมิครอนจะมีความรุนแรงลดลง แต่ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น อายุมากกว่า 60 ปี มีโรคประจำตัว หากไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับไม่ครบ อาจมีอาการรุนแรงเข้าข่ายผู้ป่วยอาการสีเหลืองหรือสีแดงได้ เช่น เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก จะใช้สิทธิ UCEP Plus เข้ารักษาโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนที่อยู่ใกล้ได้ทุกแห่ง โดยติดต่อสายด่วน 1669 ซึ่งระบบยังรองรับได้อย่างดี
******************************************** 14 มีนาคม 2565