โค้งสุดท้าย ‘ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพฯ ฉบับ 3’‘ปูพรม 1 เดือน – จัดสมัชชาฯ เฉพาะประเด็น’ รับฟังความเห็น จ่อชงเข้า ครม.พิจารณา หลังเดือน พ.ค.นี้

วงถกบอร์ดสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงาน “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3” เตรียมจัดเวทีฟังความคิดเห็น สร้างการรับรู้-การมีส่วนร่วม ตลอดเดือน มี.ค.–เม.ย. 2565 ก่อนเสนอ ครม.เห็นชอบ-ประกาศใช้ภายในปีนี้ เครือข่ายพร้อมเดินหน้าจัดสมัชชาฯ ว่าด้วยสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติ หวังปรับนโยบายปกป้องสุขภาพทุกคนบนแผ่นดินไทยครั้งใหญ่ ขณะที่ สช. จับมือ “WHO-มหิดล” ศึกษากลไกการมีส่วนร่วมทางสังคมกับมาตรการจัดการโควิด-19 ของรัฐ

ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2565 ซึ่งมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธาน คสช. เป็นประธาน มีมติรับทราบการจัดเวทีฟังความคิดเห็นและสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2565 เพื่อให้ภาคีทุกภาคส่วนร่วมพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3

สำหรับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ซึ่งเปรียบได้กับเข็มทิศด้านสุขภาพของประเทศ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความเห็น โดยคณะกรรมการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ซึ่งมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน พร้อมทำการสื่อสารให้สังคมวงกว้างได้รู้จักเครื่องมือดังกล่าวตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่ใช้เป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของทุกหน่วยงานในประเทศ

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ เปิดเผยว่า โครงสร้างภายในร่างธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 นี้ จะมีการประเมินถึงแนวโน้มสถานการณ์ที่อาจมีผลต่อระบบสุขภาพ ในระยะ 5 ปี เช่น โรคระบาด สังคมสูงวัย เทคโนโลยี การขยายตัวของเมือง การค้าระหว่างประเทศ สภาพภูมิอากาศ พร้อมกับวางคุณลักษณะที่พึงประสงค์และเป้าหมายของระบบสุขภาพในระยะดังกล่าว โดยยึดโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่กำลังจะมีขึ้น

“เนื้อหาในธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 จะประกอบไปด้วยสาระที่สำคัญต่างๆ โดยเฉพาะเป้าหมายของระบบสุขภาพที่สอดคล้องกับแนวโน้มสถานการณ์ในระยะ 5 ปี ทั้งในส่วนของการปรับปรุงโครงสร้างหรือระบบ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้คนให้เท่าทันเรื่องสุขภาพ รวมไปถึงบริบททางเทคโนโลยี การตัดสินใจบนฐานข้อมูล Big Data ที่จะเข้ามาทำให้ระบบสุขภาพไทยเป็นไปตามเป้าหมายที่พึงประสงค์ ตลอดจนปัญหาที่ยึดโยงกันในระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็ถูกให้น้ำหนักด้วยเช่นกัน” ดร.สาธิต กล่าว

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการจัดทำธรรมนูญฯ ยกร่างโครงสร้างและเนื้อหาทั้งฉบับเสร็จสิ้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการจัดเวทีสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำและขับเคลื่อนธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ในกลุ่มต่างๆ ทั้งภาคียุทธศาสตร์ ภาคีภาครัฐ ภาคีภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ผู้แทนคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ผู้แทนสมัชชาสุขภาพจังหวัด รวม 3 เวทีในวันที่ 22, 29 มีนาคม และ 5 เมษายน นี้ รวมทั้งการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เพื่อสร้างการรับรู้ การมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 และเพื่อสร้างพันธสัญญาในการขับเคลื่อนร่วมกัน ซึ่งจะจัดในวันที่ 25 เมษายน ที่ห้องประชุมกรมประชาสัมพันธ์ และผ่านการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ ถ่ายทอดทั่วประเทศ

เลขาธิการ คสช. กล่าวอีกว่า ภายหลังการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ แล้ว คณะกรรมการจัดทำธรรมนูญฯ จะรวบรวมข้อเสนอและปรับแก้ไขเป็น (ร่าง) ธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ที่พร้อมเสนอต่อ คสช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในเดือน พ.ค. 2565 ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภา เพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาภายในปี 2565 ต่อไป โดยในระหว่างนั้นก็จะมีการนำธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ที่ผ่านการพิจารณาโดย คสช.แล้ว ไปจัดเวทีทำความเข้าใจเพื่อการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ทั้ง 13 เขตสุขภาพในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2565 ควบคู่กันไปด้วย

ขณะเดียวกันที่ประชุม คสช. ยังได้รับทราบถึงความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่มี นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ เป็นประธาน ซึ่งได้จัดทำ (ร่าง) ข้อเสนอนโยบายสาธารณะสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติ อันเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่ได้รับผลกระทบทั้งในด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิค-19 ที่ผ่านมา และมีความจำเป็นต้องประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง บนหลักคิดของการปกป้องสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการปกป้องสุขภาพคนไทย สอดคล้องกับสิทธิด้านสุขภาพตามมาตรา 6 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

สำหรับ (ร่าง) ข้อเสนอเชิงนโยบายสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติ อยู่ระหว่างการเตรียมนำไปรับฟังความคิดเห็นในระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2565 และจัดประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วยสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ในเดือนมิถุนายน 2565 เพื่อหาฉันทมติต่อข้อเสนอเชิงนโยบายฯ และแนวทางการขับเคลื่อนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก่อนที่จะเสนอให้ คสช. พิจารณาให้ความเห็นชอบ และเสนอต่อ ครม. เพื่อมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติ ภายในเดือนกรกฎาคม 2565 ต่อไป

ในตอนท้ายของการประชุม คสช. ที่ประชุมยังได้รับทราบ โครงการความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง Social Participation in Thailand’s Government Response to COVID-19 ที่ สช. ได้รับเชิญจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ศึกษากลไกการมีส่วนร่วมทางสังคมที่มีอยู่ และความเชื่อมโยงระหว่างกลไกการมีส่วนร่วมทางสังคมกับมาตรการการจัดการโควิด-19 ของรัฐบาล โดย สช. ได้ร่วมมือกับคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ WHO เพื่อเดินหน้าศึกษา ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณรวมทั้งสิ้น 799,440 บาท จากองค์การอนามัยโลก สำนักงานใหญ่