วันที่ 27 มีนาคม 2562 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “Seminar on African Swine Fever (ASF) Risk Preparedness” ระหว่างวันที่ 26-27 มีนาคม 2562 พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ปศุสัตว์เขต 2, 3, 4 และ 5 ผอ.สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ ผอ.กองสารวัตรและกักกัน ผู้แทนจากปศุสัตว์จังหวัด เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ ผู้แทนจากกองความร่วมมือด้านการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ ผู้แทนจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ผู้แทนจากประเทศกัมพูชา ลาว และเวียดนาม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างเครือข่ายเกี่ยวกับโรค ASF ระดับภูมิภาค และปล่อยขบวนคาราวานความร่วมมือเฝ้าระวังและป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรตามแนวชายแดน
โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) เป็นโรคที่ไม่มีวัคซีน เกิดโรคเฉพาะในสุกร ไม่ติดต่อสู่คน ทำให้เกิดอัตราการตายสูงในสุกร ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายอย่างมากต่ออุตสาหกรรมผู้ผลิตและผู้เลี้ยงสุกร ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของโรค ASF มากขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน และเวียดนามซึ่งอยู่ในภูมิภาคเอเชีย ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food Security) ระดับภูมิภาคด้วย
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือและสร้างเครือข่ายปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับโรค ASF ระดับภูมิภาค กรมปศุสัตว์ร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้จัดงานสัมมนาขึ้น โดยจุดประสงค์เพื่อทบทวนสถานการณ์และความเสี่ยงของโรค ASF ในสุกรที่มีต่อประเทศในแถบภูมิภาค สร้างกลไกความร่วมมือเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันการเกิดโรค สร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงาน สร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายตามชายแดน โดยมีองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ให้การสนับสนุนข้อมูลทางด้านวิชาการ นอกจากนี้ในการสัมมนามีการนำเสนอข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบันของโรค ASF และความเสี่ยงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แผนในการเตรียมความพร้อมและการรับมือของโรค ASF ระดับชาติของประเทศต่างๆ การประเมินความเสี่ยงในการระบาดของโรค ASF และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศต่างๆ ด้านความร่วมมือ การสร้างความเข้มแข็งตามแนวชายแดนระหว่างประเทศ การสร้างเครือข่าย และการระบุจัดความสำคัญในการเตรียมความพร้อมและความร่วมมือระดับภูมิภาค เพื่อให้กลไกความร่วมมือเกี่ยวกับโรค ASF ระดับภูมิภาคสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
นอกจากนี้ เป็นประธานปล่อยขบวนคาราวานความร่วมมือเฝ้าระวังและป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยปฎิบัติการพิเศษกว่า 45 ราย พร้อมยานพาหนะ 15 คัน ร่วมกับผู้แทนจากประเทศกัมพูชา ลาว และเวียดนาม เพื่อพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อต้านโรค ASF ตามพื้นที่ชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน ร่วมมือดำเนินการตามมาตราการป้องกันโรค ASF ของกรมปศุสัตว์ต่อไป โดยเริ่มปฎิบัติการตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม – พฤษภาคม 2562 นี้ ณ โรงแรมอัศวรรณ จังหวัดหนองคาย